ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จะเอาตัวรอดใน"อาเซียน"อย่างไร? เมื่อความท้าทายบัณฑิตใหม่ ไม่ใช่แค่"ภาษาอังกฤษ"

วันที่ลงข่าว: 29/03/13

 

ชั่วโมงนี้ไม่ว่าใครก็พูดถึง "อาเซียน"

 

เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป สมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะก้าวเข้าสู่ "ประชาคมอาเซียน" ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเฉพาะในส่วนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่เป็นความร่วมมือหาศักยภาพของตนเองภายใต้ภาวะที่ตลาดโลกมีการแข่งขันสูง

 

จึงไม่แปลกที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน จะออกมาแสดงความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่ตลาดภายในของแต่ละประเทศจะหลอมรวมกับประเทศเพื่อนบ้าน ในลักษณะตลาดเดียว ฐานการผลิตเดียว ซึ่งจะเป็นการเปิดเสรีทางการค้า, การบริการ, การลงทุน, การเงิน และการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ

 

และความเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตเราๆ ท่านๆ อย่างแน่นอน จะมากหรือน้อย จะดีหรือร้าย ก็คงไม่อาจเลี่ยง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดา "บัณฑิตจบใหม่" ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ต้องเร่งปรับตัวให้ทันอนาคต

 

ทั้งอนาคตของตนเอง และอนาคตของประเทศชาติ

 

ด้วยเหตุนี้เอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ "มาตรฐานวิชาชีพอาเซียน : ความท้าทายที่บัณฑิตไทยต้องไปให้ถึง" โดยมี ดร.ธัญญลักษณ์ วีระสมบัติ รองผู้อำนวยการโครงการพิเศษหลักสูตรพัฒนาแรงงานและสวัสดิการมหาบัณฑิต อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาแรงงานและสวัสดิการ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้ความรู้แก่นักศึกษาและผู้สนใจ

 

ดร.ธัญญลักษณ์กล่าวว่า ปัจจุบันนักเรียน นักศึกษา ซึ่งจะเป็นแรงงานในอนาคต ยังขาดความรู้ความเข้าใจทั้งต่อประชาคมอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งประเด็นสุดท้ายนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการประกอบอาชีพในอนาคต

 

"จากการสำรวจทัศนคติและการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน โดยใช้กลุ่มตัวอย่างนักศึกษา 2,170 คน จาก มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ชี้ว่า นักศึกษาไทยมีความรู้และมีทัศนคติต่อความรู้เกี่ยวกับอาเซียนในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาในชาติอาเซียนอื่นๆ และเมื่อถามว่าคุ้นเคยกับอาเซียนแค่ไหน มีเพียง 68% ที่คุ้นเคย แต่เมื่อถามว่ามีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนหรือไม่ นักศึกษาไทยกลับตกลงมาเป็นอันดับสุดท้าย มี 27.5% เท่านั้นที่มีความรู้"

ดร.ธัญญลักษณ์ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของนักศึกษาไทย ก่อนจะอธิบายว่า หลายคนอาจจะไม่ให้ความสำคัญกับการเปิด "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" เพราะคิดว่าเดิมการไหลเวียนเหล่านี้ก็มีอยู่แล้ว แต่จริงๆ การเปิดเสรีอย่างเป็นทางการนั้นจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น อีกทั้งปกติทุนไทยลงทุนในภูมิภาคอาเซียนกว่า 75% เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าอัตราการส่งออกและนำเข้าในอาเซียนขยายตัวโดยตลอด และที่สำคัญยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีก

 

"นี่เป็นโอกาสจากการเปิดเสรีทางการค้าสินค้า การบริการ และการลงทุน เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนมีตลาดขนาดใหญ่ ประชากรกว่า 580 ล้านคน ดึงดูดการค้าการลงทุนจากประเทศทั้งภายในและภายนอก นอกจากนี้ อาเซียนยังมีแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย และอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ราคาวัตถุดิบถูกลง ต้นทุนผลิตสินค้าต่ำลง และขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น เป็นการเพิ่มกำลังการต่อรองในเวทีการค้าโลก" ดร.ธัญญลักษณ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ดี โอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ก็เป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้ายต่อบัณฑิต หรือแรงงานมีฝีมือที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต

 

ดร.ธัญลักษณ์กล่าวว่า ข่าวดีของแรงงาน คือ มีโอกาสในการขยายประสบการณ์การทำงาน มีโอกาสในการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และที่สำคัญ ทักษะฝีมือจะเป็นตัวกำหนดระดับรายได้ ขณะเดียวกัน ข่าวร้าย คือ ความสามารถด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาของประเทศอื่นในอาเซียน ในระดับที่จะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างชำนาญ ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องภาษานั้นเป็นปัญหาเก่าๆ ที่ถูกพูดถึงเป็นประจำอยู่แล้ว

 

แต่ข้อจำกัดอื่นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก คือ พฤตินิสัยของคนไทยที่มักจะขาดความกระตือรือร้น ไม่กล้าตัดสินใจ และไม่สามารถการดูแลตัวเอง หรือเรียกรวมๆ ว่าขาดทักษะผจญภัย (adventurous skill) ที่จะไปประกอบอาชีพในต่างแดน ซึ่งต้องอาศัยทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา ทำงานเป็นทีม ตรงต่อเวลา และมีระเบียบวินัย

 

"เด็กสมัยนี้ไม่มีปัญหาเรื่องการใช้เทคโนโลยี พวกเขาเติบโตมากับการสื่อสารสมัยใหม่ที่เข้าถึงได้ง่ายและมีความรวดเร็ว ทำให้พวกเขาเป็นคนที่กล้าแสดงออก คิดเร็ว ทำเร็ว แต่มีข้อเสียคือ พูดไม่รู้เรื่อง ไม่มีความอดทน รอไม่เป็น ขาดการจัดระบบความคิด และระเบียบในการใช้ชีวิต" รองผู้อำนวยการโครงการพิเศษหลักสูตรพัฒนาแรงงาน ชี้ให้เห็นข้อด้อยของแรงงานไทยในอนาคต

 

ปัจจุบันประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพแล้ว 7 สาขา คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ ส่วนสาขาวิชาชีพอื่นๆ จะทยอยทำข้อตกลงร่วมกันในอนาคต อาทิ สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว ที่ทั้ง 9 ประเทศได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันแล้ว แต่ไทยยังอยู่ในกระบวนการเตรียมความพร้อม

 

อย่างไรก็ดี บรรดาบัณฑิตจะนิ่งนอนใจ รอคอยการช่วยเหลือจากภาครัฐแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจจุดแข็งจุดอ่อนแรงงานไทยในทรรศนะนายจ้าง พบว่า จุดแข็งของแรงานไทยอยู่ที่ฝึกฝนได้ เรียนรู้ง่าย มีความสุภาพอ่อนน้อม และไม่ก้าวร้าว ส่วนจุดอ่อนคือ ขาดการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ ขาดทักษะที่เป็นมาตรฐาน และระเบียบในการทำงานต่ำ

 

ในตอนท้าย ดร.ธัญลักษณ์ได้สรุป "คุณลักษณะบัณฑิตไทยที่พึงประสงค์ในประชาคมอาเซียน" ไว้ 7 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1.มีทักษะและความสามารถใช้ภาษาอังกฤษ-ภาษาประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน 2.มีความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้าน ทั้งในด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ 3.ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนและเรียนรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ ของอาเซียน 4.พัฒนาทักษะฝีมือให้สามารถปรับตัวเข้ากับมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากล 5.พัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ 6.ปรับกระบวนทัศน์การเรียนรู้ในการพัฒนาศักยภาพรอบด้าน และ 7.สร้างความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะการทำงานกับผู้คนต่างวัฒนธรรม

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และข้อเสนอทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่บัณฑิตและแรงงานทั้งหลายต้องรับฟัง

 

หากต้องการปรับตัวให้เท่าทันกระแสการค้าเสรีเพื่อความอยู่รอด

 

อย่าตระหนก แต่ต้องตระหนัก!

 

 

 

เกร็ดอาเซียน

 

หน่วยงานของ"อาเชียน"

 

เกี่ยวกับหน่วยงานที่สำคัญของอาเซียนนั้น มีอยู่ 2 ระดับ

 

1. คือ สำนักเลขาธิการอาเซียน หรือ ASEAN Secretariat ตั้งอยุ่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เปรียบเสมือนศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างประเทศสมาชิก โดยมีเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretary -General) ซึ่งมีวาระตำแหน่ง 5 ปี เป็นหัวหน้าสำนักงาน ซึ่งปัจจุบันคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ

 

2. คือ สำนักงานอาเซียนแห่งชาติ หรือ ASEAN National Secretariat เป็นหน่วยงานระดับกรม ในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน มีหน้าที่ประสานกิจการอาเซียนในประเทศนั้นและติดตามผลการดำเนินงาน สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี ร.ท.อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เป็นอธิบดี

 

 

 

โดย ชัชชล อัจนากิตติ

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 26 กันยายน 2555
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก