ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นายกฯดันความเสมอภาคทางเพศในยุคดิจิทัล

วันที่ลงข่าว: 29/06/20

           นายกฯ ระบุไทยมุ่งเสริมสร้างศักยภาพสตรีบนเวทีอาเซียน  พร้อมผลักดันความเสมอภาคทางเพศในยุคดิจิทัล หนุนสตรีมีบทบาทด้านสาธารณสุขในช่วงวิกฤตโควิด-19

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวแสดงข้อคิดเห็นในการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เรื่องการเสริมสร้างศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า รู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ เรื่องการเสริมสร้างศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัลในครั้งนี้

          โดยขอชื่นชมเวียดนามที่ตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพสตรี ซึ่งเป็นสมาชิกกว่าครึ่งหนึ่งของประชาคมอาเซียน ตนเชื่อมั่นว่าการเสริมสร้างศักยภาพสตรี เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการบรรลุวิสัยทัศน์ของประชาสังคมอาเซียน ค.ศ 2025 และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจประเทศไทยส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการสตรีและมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการประกอบการอย่างเต็มความสามารถ

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยผลักดันเสริมสร้างศักยภาพสตรีภาพสตรีในอาเซียนอย่างเต็มที่ และได้สนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากล นอกจากนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลกในปี 2563 นี้ ภายใต้หัวข้อ พลังสตรีพลิกเศรษฐกิจ เชื่อมพลังสตรีจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ประชาชนและประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทผู้นำสตรีทั้งในภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคการเมืองและภาคความมั่นคงและมีส่วนร่วมในการสร้างเสถียรภาพอีกด้วย

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในการขจัดอุปสรรคต่อการพัฒนาของสตรี ประเทศไทยได้บังคับใช้พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศพ.ศ. 2558 เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม ป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน และส่งเสริมเจตคติที่เคารพความเสมอภาคระหว่างเพศ เช่น การขจัดอคติทางเพศในกระบวนการศึกษา

          นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนั้นช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลไทยเตรียมมาตรการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด รวมทั้งผู้มีรายได้น้อย คนยากจน กลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ โดยให้ความช่วยเหลือตามสภาพปัญหาความเดือดร้อน อย่างไรก็ตามอาเซียนควรให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1.อาเซียนควรส่งเสริมเข้าถึงแหล่งเงินทุนสตรีที่ประกอบวิสาหกิจทั้งขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยเพื่อส่งเสริมสตรีมีรายได้และพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเท่าที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

          นายกฯ กล่าวอีกว่า ประการที่ 2 อาเซียนควรส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทด้านการสาธารณสุขโดยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของสตรีในฐานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรืออสม. ที่เข้มแข็งทางการทำงานในเชิงป้องกันและการต่อสู้กับการแพร่ระบาดในชุมชน ดังนั้นจึงถือว่าเป็นหน้าด่านและทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดี เพราะมีมตรีอสม.จำนวนหลายล้านคนเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย

          สุดท้ายนี้ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าของสตรี ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ที่มาของข่าว https://www.dailynews.co.th/politics/781984
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก