ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน สร้างความมั่นคงระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 18/07/19

           ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อหารือด้านความมั่นคง และการป้องกันประเทศในระดับยุทธศาสตร์ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียน

          สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ รายงานว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพในปีนี้ ได้แสดงบทบาทนำในการขับเคลื่อนความร่วมมือ และผลักดันประเด็นความมั่นคงของอาเซียนที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" หรือ Advancing Partnership for Sustainability ที่ต้องการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนของความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกอาเซียนให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ มองไปข้างหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองของอาเซียนอย่างยั่งยืน

          การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมเป็นกลไกการหารือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศในระดับยุทธศาสตร์ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียน นอกจากจะมีความร่วมมือระหว่างกันในอาเซียนแล้ว อาเซียนยังมีความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา อีก 8 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย , สาธารณรัฐประชาชนจีน , สาธารณรัฐอินเดีย , ญี่ปุ่น , นิวซีแลนด์ , สาธารณรัฐเกาหลี , สหพันธรัฐรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบคลุมในทุกมิติระหว่าง 10 ประเทศอาเซียน และอีก 8 ประเทศคู่เจรจา และเพื่อการตอบสนองความท้าท้ายด้านความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ๆ และแบบเก่า ผ่านโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมชัดเจน อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ , ความมั่นคงทางทะเล , การแพทย์ทหาร , การต่อต้านการก่อการร้าย , การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ , การปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และความมั่นคงทางไซเบอร์

          โดยกระทรวงกลาโหมกำหนดแนวคิดในการเสริมสร้างความร่วมมือในกรอบ ADMM (กลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ) และ ADMM-Plus (กลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ และ 8 ประเทศคู่เจรจา) ในรูปแบบ 3s ได้แก่

          S1 เป็นแนวคิดหลัก คือ "ความมั่นคงที่ยั่งยืน" หรือ Sustainable Security โดยจะมีผลลัพธ์เป็นปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมว่าด้วยความมั่นคงที่ยั่งยืน ซึ่งมีการลงนามกันในการประชุม ADMM ครั้งที่ 13 ในวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2562 ณ กรุงเทพมหานคร และมีแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน และรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน จะมีการรับรองในการประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ 6 ในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร

 

          S2 คือ การบูรณาการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ "Strengthening , Consolidation and Optimizing Defence Cooperation" โดยมีผลลัพธ์เป็นเอกสารแนวคิดว่าด้วยการประเมินผลความคิดริเริ่มต่าง ๆ ในกรอบ ADMM ให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในปัจจุบันของอาเซียน

 

          S3 คือ การสนับสนุนกิจกรรมคาบเกี่ยวระหว่างเสาความร่วมมือ หรือ "Supporting Cross-Pillar Activities" โดยมีผลลัพธ์เป็นเอกสารแนวคิดว่าด้วยการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับเป็นความริเริ่มของไทยที่จะนำขีดความสามารถของฝ่ายทหารอาเซียนไปสนับสนุนให้เกิดสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียน และด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนให้ดำเนินการไปอย่างราบรื่น

 

          จากความร่วมมือรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน คือ การเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค ประชาชนในอาเซียนก็จะได้รับความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ได้รับความสะดวกด้านการค้าขายการลงทุน การทำมาหากิน การเดินทางไปมาหาสู่กันก็จะได้รับความปลอดภัยมีความรู้สึกมั่นคงในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งเมื่อประเทศใดประสบภัยพิบัติไม่ว่าจากธรรมชาติ หรือภาวะวิกฤติ อาเซียนก็สามารถให้ความช่วยเหลือกันและกันได้อย่างทันท่วงที

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก