ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สคร.12 สงขลา รณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก เนื่องในวัน ASEAN Dengue Day วันไข้เลือดออกอาเซียน 15 มิ.ย. 62

วันที่ลงข่าว: 17/06/19

          โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โรคนี้ระบาดได้ทั้งปี และพบการระบาดมากในช่วงนี้ซึ่งเป็นฤดูฝน มีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงขึ้น หากพบมีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้ หรือเบื่ออาหาร อย่าซื้อยากินเอง ขอแนะนำให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เป็นวัน ASEAN Dengue Day หรือวันไข้เลือดออกอาเซียน ในปี 2562 (ASEAN Dengue Day 2019) ภายใต้ประเด็นรณรงค์ คือ หยุดไข้เลือดออก: เริ่มต้นที่ตัวเรา (End Dengue: Starts With Me ) เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก

          ดร.นายแพทย์ สุวิช ธรรมปาโล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า อาการไข้เลือดออกส่วนใหญ่มีไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีผื่นหรือจุดเลือดขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วัน ไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีภาวะอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ภาวะติดสุรา ธาลัสซีเมีย หรือมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เป็นต้น ห้ามฉีดยา ห้ามจ่ายยา กลุ่มแก้ปวดลดไข้ต้านการอักเสบ หรือกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากจะเป็นอันตรายหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก ส่วนอาการหลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย อุณหภูมิ 38.5-40.0 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2-7 วัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หน้าแดง ปวดศีรษะ บางรายอาจมีปวดท้อง และอาเจียน

          ดร.นายแพทย์ สุวิช เปิดเผยถึงสถานการณ์ การระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่เขต 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 5 มิถุนายน 2562 (ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยา) ว่า พบผู้ว่าป่วย 2,255 ราย คิดเป็น 2.15 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา อัตราป่วย 45.75 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย คือ จังหวัดนราธิวาส 1 ราย และพัทลุง 1 ราย จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ จังหวัดยะลา รองลงมา คือ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล

          สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ขอแนะนำมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่เป้าหมาย 6 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/ชุมชน) 2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) โดยยึดหลัก 3 เก็บ 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย 2.เก็บขยะให้เกลี้ยงไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ 3.เก็บปิดน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ รวมทั้งจุดที่มักมองข้ามภายในบ้าน เช่น แก้วน้ำ แจกันหน้าหิ้งพระและศาลพระภูมิ ควรล้างและเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ ช่วยป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันที่ดี คือ การป้องกันอย่าให้ยุงกัด ทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก