ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เครือข่ายสังคมออนไลน์

ต่อเนื่องจากบทความเรื่อง  เมื่อเด็กแอลดีเล่นเฟสบุ๊ก (When kids with LD Facebook) ที่บอกเล่าเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของเด็กเมื่อใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเน้นการปรับใช้กับเด็กแอลดีและเด็กสมาธิสั้น   คราวนี้เรามาดูรายละเอียดวิธีการปกป้องเด็กแอลดีจากภัยออนไลน์ของเด็ก โดยการสอนเขาถึงวิธีการปกป้องข้อมูลส่วนตัวและชื่อจริงจากผู้คนที่ได้พบผ่านทางอินเทอร์เน็ตในบทความนี้กัน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยปิดกั้น กรอง และตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์ของเด็ก รวมทั้งแนวทางในการเลือกเครื่องมือที่ตรงกับความกังวลของพ่อแม่ที่สุดด้วย ทั้งหมดนี้มาจากบทความเรื่อง Social networking online: how to safeguard your child’s experience เขียนโดย Kristin Stanberry จากเว็บไซต์ www.greatschools.org      โดยผู้เขียนเน้นว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรใช้แนวปฏิบัติเหล่านี้เพื่อสอนบุตรหลานให้เรียนรู้ความปลอดภัยขั้นพื้นฐานจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมออนไลน์

 

สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าพ่อแม่จะใช้แนวทางหรือวิธีการใดก็ตาม ขอให้พยายามปรับให้เหมาะกับความต้องการจำเป็นเฉพาะของเด็กและครอบครัวให้มากที่สุด หากบุตรหลานของเรามีปัญหาทางการเรียนรู้หรือสมาธิสั้น เราก็ยิ่งต้องใส่ใจให้การดูแลเป็นพิเศษอย่างที่เขาอาจต้องการจากเราค่ะ 

 

ลองดูคำถามของคุณแม่คนหนึ่งซี่งอาจเหมือนกับของเรานะคะ “เราจะเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตในโลกของเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยได้อย่างไรคะ? แล้วเมื่อไรเด็กถึงจะโตพอที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวเองในโลกแบบนั้นได้? เด็กๆ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือชนิดใดเพื่อรับมือกับโลกนั้น? เราจะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จและปลอดภัยในโลกนั้นได้อย่างไร?"

 

คำถามเหล่านี้ตอบได้ไม่ง่ายเลย จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือ พ่อแม่ต้องเข้าใจบทบาทของตนเองในฐานะผู้ปกครอง และขอให้มั่นใจในความสามารถของตัวเราเองที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตให้มากพอที่จะเตรียมลูกหลานให้พร้อมสำหรับการท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยและประสบความสำเร็จ เพราะจริงๆ แล้ว เราเป็นคนที่รู้จัก     พวกเขาดีกว่าคนอื่นแน่นอน และเป็นคนที่สอนเขาในการใช้ชีวิตนับตั้งแต่เกิดจนเติบโตขึ้นมา บทความนี้จะช่วยให้พ่อแม่ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตทีละขั้นตอนตามลำดับค่ะ

การจัดการและตรวจสอบกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตของเด็ก

ก็เหมือนกับตอนสอนลูกหลานให้วางตัวในที่สาธารณะล่ะค่ะ แม้ว่าเราไม่ได้อยู่กับเขา แต่เราก็อยากจะสอนเขาถึงวิธีการสร้างปฏิสัมพันธ์บนเน็ต เขาจะสื่อสารอย่างไร  เขาจะประเมินความน่าเชื่อถือและพื้นฐานของผู้คนบนเน็ตได้ดีไหม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญเลย

 

เอาล่ะ ต่อไปนี้คือเคล็ดลับการสอนบุตรหลานของพ่อแม่ในการติดต่อสื่อสารออนไลน์อย่างปลอดภัย จำไว้ใช้เลยค่ะ

  • สอนจนมั่นใจว่า เด็กเข้าใจแล้วว่า ผู้คนที่เขาพบออนไลน์นั้นอาจไม่ได้เป็นคนประเภทที่เขาบอกเล่าหรือแสดงให้เราดูก็ได้ พยายามอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า คุณสมบัติของอินเทอร์เน็ตสามารถทำให้คนคนหนึ่งสร้างภาพตัวเองให้เป็นคนแบบที่เขาต้องการให้เป็น (แทนตัวตนในชีวิตจริง) ได้ง่ายเพียงใด และทำไมการสร้างภาพแบบนี้จึงอาจเป็นภัยต่อเด็กได้ มีตัวอย่างที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ใหญ่ร้ายๆ คนหนึ่งอาจใช้การติดต่อออนไลน์กับเด็ก เพื่อสร้างความไว้วางใจในลักษณะของการชวนเชื่อให้เด็กไปพบปะกันตัวต่อตัว อีกตัวอย่างในสถานการณ์ที่ต่างออกไปคือ เด็กร้ายๆ คนหนึ่งอาจหลอกขอเป็นเพื่อนออนไลน์กับเด็กคนอื่น เพียงเพื่อจะเอามาแกล้งหรือล้อเลียนในภายหลัง
  • สอนบุตรหลานของเราไม่ให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นส่วนตัวมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชื่อของเด็ก หมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ ข้อมูลที่อาจไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งนัก แต่ก็เป็นอันตรายที่จะแชร์ออกไปพอๆ กัน คือ รหัสผ่านออนไลน์ของเด็ก ชื่อและสถานที่ตั้งของโรงเรียน งานสังสรรค์ที่จะไป หรือช่วงเวลาที่อยู่คนเดียว อย่างเช่น ช่วงที่เดินไป-กลับโรงเรียน ช่วงที่อยู่บ้านคนเดียว เป็นต้น แม้แต่รูปภาพที่โพสต์ออนไลน์ก็ไม่ควรมีเบาะแส     ที่ระบุข้อมูลส่วนตัว เช่น ป้ายชื่อโรงเรียนตรงแบ็คกราวด์ เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เด็กค่อยๆ พัฒนาวิธีป้องกันตัวเอง เวลาสื่อสารโต้ตอบอย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวากับผู้อื่นออนไลน์ เด็กจำเป็นต้องเข้าใจว่า แม้เขาจะเชื่อมั่นว่า เขากำลังคุยในบล็อกของเพื่อน หรือโพสต์ในกระดานข่าวที่เจาะจงสื่อสารกับเพื่อนร่วมชั้นรียนเท่านั้น แต่คนอื่นๆ ก็อาจได้เห็นข้อมูลเหล่านี้เหมือนกัน 
  • ตรวจสอบนโยบายความเป็นส่วนตัวและเงื่อนไขการให้บริการของแต่ละเว็บไซต์ที่บุตรหลานของเราเข้าชม แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดกำหนดว่า นโยบายความเป็นส่วนตัวของเว็บไซต์ควรปรากฏผ่านลิงค์บนหน้าโฮมเพจและแต่ละจุดที่ต้องการข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ใช้เว็บ (จริงๆ แล้ว กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ทุกเว็บที่มุ่งเป้าไปที่เด็กอายุต่ำกว่าอายุ 13 ปีต้องดำเนินการตามนี้) พ่อแม่ควรอ่านนโยบายให้ละเอียดเพื่อศึกษาประเภทของข้อมูลส่วนบุคคลที่เว็บไซต์ต้องการจากผู้ใช้ วิธีการนำมาใช้ และข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังบุคคลที่สามหรือไม่ หากเราพบเว็บไซต์ที่ไม่ได้โพสต์แนวปฏิบัติพื้นฐานสำหรับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก ให้ร้องขอรายละเอียดเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการเก็บข้อมูลของเว็บไซต์นั้นๆ ได้เลย
  • วางคอมพิวเตอร์ในห้องพักผ่อนของครอบครัว ห้องครัว หรือห้องนั่งเล่น ไม่ใช่ในห้องนอนลูก เพราะถ้าเด็ก   รู้ว่าคุณกำลังมองเขาอยู่ หรือคุณอาจเดินผ่านมาใกล้เขาได้ตลอดเวลา เขาก็อาจจะไม่ค่อยกล้าเข้าไปออนไลน์กับอะไรที่เสี่ยงๆ หรือเว็บที่ไม่เหมาะสมก็ได้
  • พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับกฎการใช้คอมพิวเตอร์ และติดไว้ใกล้ๆ เพื่อเตือนความจำ
  • ถ้าพ่อแม่รู้สึกไม่มั่นใจที่จะให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้านตอนเราไม่อยู่ ก็ควรหาทางเลือกที่เราพอรับได้ เช่น จัดการให้ลูกล็อกเข้าไปในระบบอินเตอร์เน็ตที่ห้องสมุดโรงเรียนแทน

เทคโนโลยีที่ช่วยจัดการและตรวจสอบการเข้าอินเทอร์เน็ตของเด็ก 

พ่อแม่หลายคนอยากเข้าไปตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์ของเด็กเสียเหลือเกิน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจำเป็นต้องตรวจตรามากแค่ไหน หรือจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความมีอิสระขั้นพื้นฐานของเด็กๆ ในระดับใด  อีกทั้งยังสับสนเกี่ยวกับ    การเลือกใช้เครื่องมือตรวจสอบที่มีอยู่ด้วย มันทำอะไรได้บ้าง จะใช้อย่างไร ฯลฯ

จริงๆ แล้ว มีเครื่องมือเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองในการจัดการและตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์ของเด็กๆ ที่บ้าน แต่โปรดจำใส่ใจไว้ว่า ไม่มีเครื่องมือชิ้นไหนเลยที่จะช่วยดูแลควบคุมได้ทั้งหมด และเช่นกัน  ไม่มีเครื่องมือใดที่จะให้คำชี้แนะโดยตรงแทนเราในฐานะพ่อแม่ของเด็กๆ ได้  

 

เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร

 

โดยทั่วไปซอฟต์แวร์นี้ทำงานโดยการกรอง บล็อค จัดการ หรือตรวจสอบภาพและข้อมูลที่เข้ามาในโลกของเด็กผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับข้อมูลและข้อความที่เขาส่งออกไปทางอินเทอร์เน็ต เครื่องมือพวกนี้ได้แก่

  • ซอฟต์แวร์ควบคุมโดยผู้ปกครอง (Parental controls): เครื่องมือนี้ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถป้องกันเด็กไม่ให้เข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในอินเทอร์เน็ต ซอฟต์แวร์ตัวนี้ฟรี โดยมีการสร้างและติดตั้งในบริการอินเทอร์เน็ตมากมาย เช่น Yahoo! และ AOL เป็นต้น พ่อแม่เด็กสามารถเลือกใช้บริการหนึ่งแล้วเปลี่ยนไปใช้อีกบริการหนึ่งได้ ซอฟต์แวร์นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการป้องกัน แต่ก็พึงตระหนักว่า เครื่องมือนี้อาจไม่สามารถควบคุมได้ถึงระดับที่พ่อแม่ต้องการหรือคาดหวังก็ได้ 
  • ซอฟต์แวร์กรองข้อมูล (Filtering software): ซอฟต์แวร์นี้จะกรองข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต จัดประเภทเนื้อหาของข้อมูล และช่วยให้ผู้ใช้สามารถบล็อคเนื้อหาบางประเภทได้ ซอฟต์แวร์กรองข้อมูลบางโปรแกรมยังช่วยบล็อค URL ของเว็บไซต์เฉพาะบางเว็บได้ด้วย ในขณะที่โปรแกรมอื่นยังคงต้องใช้คำหลัก (keywords) ที่ผู้ใช้กำหนดในการจัดการ ขอให้พ่อแม่พึงระวังในการบล็อคคำหรือวลีใดๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าเราบล็อคสื่อลามกอนาจารโดยกรองเนื้อหาที่มีตัวอักษร "XXX" ออก ก็อาจไปบล็อคไม่ให้เด็กเข้าถึงเนื้อหาที่มีข้อมูลถูกต้องของบางเว็บได้ เช่น เว็บไซต์ประวัติศาสตร์ที่ใช้เลขโรมัน เป็นต้น 
  • เครื่องมือตรวจสอบ (Monitoring tools): เครื่องมือเหล่านี้มีทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โปรแกรมซอฟแวร์ไม่ได้บล็อคการเข้าเว็บ แต่มันช่วยให้ผู้ปกครองตรวจสอบเว็บไซต์ที่เด็กเข้าชม และดูข้อความอีเมลและข้อความ IM (Instant Messaging) ที่เด็กได้รับและส่งออกได้ ตัวล็อคแป้นพิมพ์เป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์    ที่ติดไว้กับคีย์บอร์ด ซึ่งจะบันทึกและจัดเก็บการพิมพ์คีย์บอร์ดไว้ เครื่องมือนี้ใช้รหัสผ่านหรือพาสเวิร์ดป้องกันได้ พ่อแม่เท่านั้นจึงจะเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ 

 

ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักอ้างว่า เด็ก “มองไม่เห็น” เครื่องมือเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กที่ฉลาดและไวต่อเทคโนโลยีพอสมควรก็อาจจะหลีกเลี่ยงการถูกกรองหรือควบคุมที่บ้านได้ หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ เขาก็สามารถไปท่องเว็บได้โดยล็อคเข้าระบบอินเทอร์เน็ตที่บ้านเพื่อน

 

นอกจากนี้ ยังมีบริการกรอง/รายงานข้อมูลอีกมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดประเด็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น บางบริการจะส่งข้อมูลธุรกรรมออนไลน์ของพ่อแม่ทั้งหมด รวมทั้งข้อมูลบัตรเครดิตและรหัสผ่านของเรา ฯลฯ ไปยังหน่วยบริการกลาง เพื่อกรองข้อมูล หรือรายงานเกี่ยวกับ MySpace.com หรือ chat logs จะถูกเก็บรวบรวมแล้วรายงานกลับมาให้เรา บริการเหล่านี้อ้างว่าปกป้องความเป็นส่วนตัว แต่ในการจัดการข้อมูลอาจเกิดข้อผิดพลาดจนนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวหรือความน่าเชื่อถือของคนได้เช่นกัน
 

เราจะเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาดได้อย่างไร

 

ในการเลือกซอฟต์แวร์หรือเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อตรวจสอบและจัดการกับกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตของเด็กๆ     พ่อแม่จำเป็นต้องเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับคุณสมบัติและการใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ที่เราสนใจ ผู้ดูแลระบบเทคโนโลยีที่โรงเรียนของลูกอาจเป็นที่ปรึกษาที่ดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขามีประสบการณ์           ในการจัดการ/ควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนจำนวนมากอยู่แล้ว หรือถ้าได้พูดคุยกับผู้ปกครองอื่นๆ เกี่ยวกับซอฟต์แวร์อินเทอร์เน็ต ก็อาจเป็นประโยชน์มาก

 

รู้จักลูกของคุณ

 

ก่อนที่พ่อแม่จะตัดสินใจว่าจะตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์ของลูกดีไหม และจะทำอย่างไรต่อไปดี ขอให้ถามตัวเองด้วยคำถามที่เกี่ยวกับลูกของเรา คำตอบที่ได้จะช่วยให้เรากำหนดประเภทและระดับของการตรวจสอบได้อย่างเหมาะสม

  • ลูกอายุเท่าไร? ถ้าจะปกป้องเด็กเล็กๆ จากเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมโดยการบล็อคเนื้อหาบางประเภทก็สมควรอยู่ แต่สำหรับเด็กโตหน่อย เขาอาจสามารถจัดการกับเนื้อหาที่หนักหนาหรือไม่ค่อยดีด้วยตัวเองได้ และเขาอาจจำเป็นต้องเข้าเว็บไซต์บางเว็บเพื่อศึกษาหาข้อมูลเพื่อการเรียน ดังนั้น วิธีการบล็อคเลยก็อาจไม่ค่อยเหมาะ เราควรแยกแยะให้เหมาะสมนะคะ
  • ลูกของเรามีปัญหาทางการเรียนรู้หรือสมาธิสั้นหรือเปล่า? ความบกพร่องเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสื่อสาร ทำความเข้าใจ และใช้วิจารณญาณที่ดี เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนออนไลน์หรือไม่?
  • ลูกมีวุฒิภาวะแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ? เขามีวิจารณญาณที่ดีตอนได้พบกับบางสิ่งบางอย่าง (หรือบางคน) ซึ่งท่าทางดูเหมือนจะดีจนเหลือเชื่อหรือไม่?
  • ลูกเป็นคนมีนิสัยใจคออย่างไร? เป็นคนชอบเสี่ยง? หรือไว้ใจคนอื่นมากเกินไปไหม?
  • เราไว้วางใจเขาได้ไหม? ด้วยพฤติกรรมปกติของเขา เราวางใจได้ไหมว่า เขาจะทำตามกฎการใช้อินเทอร์เน็ตที่เรากำหนดขึ้นมา? เรามั่นใจไหมว่าเขาจะตอบคำถามของเราตามความจริง ไม่โกหก? เขาจะทำตามกฎอย่างเคร่งครัดแม้ในตอนที่เราไม่ได้เฝ้ามองอยู่ไหม?
  • ลูกพูดคุยกับเราเกี่ยวกับชีวิตทั่วไปของเขา ซึ่งรวมถึงเรื่องโรงเรียนและกิจกรรมต่างๆ ไหม? เขาจะเล่าว่าเขาทำอะไรออนไลน์ให้เราฟังไหม? 

 

กฎหมายเพื่อปกป้องเด็กออนไลน์

 

ความกังวลเกี่ยวกับการปกป้องเด็กในโลกออนไลน์นำไปสู่การผลักดันเพื่อสร้างเกราะป้องกันที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่พ่อแม่ก็พึงตระหนักว่า แม้การป้องกันตามกฎหมายนั้นจะมีประโยชน์และมีค่าอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ทุกคนจะปฏิบัติตามกฎหมาย ที่สำคัญคือ มาตรการทางกฎหมายต่างๆ ไม่อาจเทียบได้กับคำแนะนำและการดูแลใกล้ชิดของผู้ปกครองต่อบุตรหลานของเราได้เลย

ในสหรัฐอเมริกา จะมีกฎหมายสำคัญที่นำมาใช้เพื่อคุ้มครองเด็กออนไลน์คือ The 1998 Children’s Online Privacy Protection Act (COPPA) โดยกฎหมายฉบับนี้วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็กจากการถูกเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ แต่ไม่ได้คุ้มครองเด็กจากการเป็นเหยื่อออนไลน์โดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทย  ที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองเด็กจากการเป็นเหยื่อออนไลน์โดยตรงเช่นกัน มีเพียงแค่บทบัญญัติเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กในโลกออนไลน์ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 “มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ” 

 

พร้อมเข้าสู่ระบบออนไลน์หรือยัง?

 

ในขณะที่เด็กๆ เติบโตขึ้น และมีความปลอดภัยในโลกออนไลน์มากขึ้น (หรือน้อยลง?) พ่อแม่ก็อาจจำเป็นต้องปรับระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบและจัดการกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตของเด็กด้วย เรายังคงต้องระมัดระวังและตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยของเด็ก ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารที่เปิดกว้างและสร้างความไว้วางใจระหว่างตัวเราและเด็กของเรา เป้าหมายของเราคือ การกำกับดูแล แนะนำ ให้ความรู้และฝึกอบรมเด็กอย่างสมดุล รวมทั้งการให้อิสระแก่เด็กในระดับที่เหมาะสมด้วย 

 

มีผู้ปกครองคนหนึ่งอธิบายแนวคิดของเธอเกี่ยวกับการสอนลูกใช้อินเทอร์เน็ตว่า “ฉันอยากให้ลูกได้รู้จักโลก และตัดสินใจเลือกเอง เพราะลูกควรได้เรียนรู้ ไม่ใช่รอการปกป้องตลอดเวลา” จากคำพูดนี้ พ่อแม่อย่างเราคงตระหนักได้ว่า เราสามารถผนวกการเลี้ยงดูบุตรหลานหลายด้านในการสอนเด็กให้ใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็น ไม่ใช่เพียงแค่สอนให้ใช้ได้เท่านั้น และเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกท้อแท้ แพ้พ่ายหรือกลัวเทคโนโลยีในโลกของเด็ก ให้พยายามกระตุ้นความเข้มแข็งและภูมิปัญญาของเราในฐานะพ่อแม่ของเด็ก ความเป็นพ่อแม่เป็น “สถาบัน” ที่แข็งแกร่งกว่าอินเทอร์เน็ตมากมายนัก  

 

ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Social networking online: how to safeguard your child’s experience 

 

เขียนโดย Kristin Stanberry http://www.greatschools.org

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก