ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สัตว์เลี้ยงสามารถช่วยเด็กที่มีอาการออทิสติกให้เรียนรู้ที่จะแบ่งปันและปลอบใจผู้อื่นได้

Maia Szalavitz @maiasz 2 สิงหาคม 2012

ผู้ที่มีอาการออทิสติกบางคนรายงานว่า ตนเองมีความรู้สึกผูกพันกับสัตว์มากกว่ามนุษย์ แต่จากการศึกษาครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่า การให้เด็กที่มีอาการออทิสติกมีสัตว์เลี้ยงในช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจช่วยให้เด็กสามารถเข้ากับมนุษย์คนอื่น ๆได้ดีขึ้น
 
นักวิจัยชาวฝรั่งเศสได้ศึกษาเด็กที่มีอาการออทิสติก 40 คนและครอบครัว เพื่อตรวจสอบว่า ครอบครัวนั้นๆ มีสัตว์เลี้ยงหรือไม่ และหากมีสัตว์เลี้ยงแล้ว ได้นำสัตว์นั้นมาเลี้ยงเมื่อใด และการมีหรือไม่มีสัตว์เลี้ยง มีอิทธิพลต่อความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ของเด็กที่เป็นออทิสติกหรือไม่ จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่าครอบครัวส่วนใหญ่ เลี้ยงสัตว์ที่เป็นสุนัขหรือแมว ในขณะที่หนึ่งครอบครัวเลี้ยงกระต่าย และอีกหนึ่งครอบครัวเลี้ยงแฮมสเตอร์ (สัตว์คล้ายหนูชนิดหนึ่ง ในตระกูล Muridae)
 
ผลการศึกษาพบว่า การมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้านไม่สำคัญเท่ากับช่วงเวลาที่นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน เด็กออทิสติกที่เกิดมาพร้อมกับมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้านแล้ว ไม่มีความแตกต่างจากเด็กที่อยู่ในบ้านซึ่งไม่มีสัตว์เลี้ยงเลย แต่เด็กที่ครอบครัวมีการรับสัตว์เลี้ยงมาในช่วงอายุ 4 ถึง 5 ปี จะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของทักษะทางสังคมอย่างมากถึง 2 ทักษะ ซึ่งทักษะทั้งสองนี้ ไม่เพียงแค่เกิดขึ้นได้ยากสำหรับเด็กที่มีอาการออทิสติกเท่านั้น แต่ยังเป็นทักษะที่มีความจำเป็นในการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มีความยั่งยืน ทักษะทั้งสองนี้ได้แก่ การแบ่งปันผู้อื่น และการปลอบใจผู้อื่นที่โศกเศร้าเสียใจหรือมีความวิตกกังวล
 
เด็กออทิสติกที่ได้รับสัตว์เลี้ยงมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยอนุบาล จะสามารถมองเห็นพัฒนาการของทักษะทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่มีพัฒนาการในด้านอื่นๆเลยก็ตาม ทั้งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ยังสามารถวัดได้ในช่วงเวลาสองสามปีให้หลัง อายุโดยเฉลี่ยของเด็กที่ทำการศึกษา อยู่ที่ประมาณ 10 ปี
 
ความสามารถในการแบ่งปันผู้อื่น และการปลอบใจผู้อื่นในเวลาที่เขาต้องการ ต้องใช้ความสามารถเฉพาะบุคคล ในการรับรู้ได้ถึงความปรารถนาและอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น และแสดงความเห็นอกเห็นใจกับพวกเขา ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการออทิสติกมักจะมีปัญหาพื้นฐาน คือ ความยากเย็นที่จะเข้าใจในความคิด อารมณ์ และความประสงค์ของคนอื่นๆ ที่อาจเรียกว่า "การอ่านใจ" หรือ "ทักษะการเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น" (Theory of mind) ก็ได้ ดังนั้น การพัฒนาพฤติกรรมที่สนับสนุน/เสริมสร้างสังคม จึงเป็นการพัฒนาทักษะที่สำคัญส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคะแนนไอคิว (IQ) แต่อย่างใด ดังนั้น เด็กที่มีอาการออทิสติกทั้งหมด น่าจะได้รับประโยชน์เหมือนๆกัน ไม่ว่าจะมีอาการในขั้นรุนแรงมากมายเพียงใดก็ตาม
 
ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทำไมการที่นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านในภายหลังจึงเกิดผลดีกับเด็กมากกว่าการมีสัตว์เลี้ยงอยู่ก่อนแล้ว ผู้เขียนได้เสนอแนะว่า เด็ก ๆ อาจเห็นว่าสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่แล้วนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภูมิหลังอยู่แล้ว หรือไม่ก็เพราะว่าเด็ก ๆ อาจเพียงรับรู้การอยู่มาก่อนของสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น ในฐานะส่วนหนึ่งของครอบครัว หรือเพราะสัตว์เลี้ยงนั้น ๆ อาจมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวอยู่แล้ว ในเวลาที่เด็กคนนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
 
ผู้เขียนยังบันทึกไว้ด้วยว่า ความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือ "การเข้ามาของสัตว์เลี้ยงช่วยสร้างความแน่นแฟ้นให้เกิดขึ้นในครอบครัว และเพิ่มระดับของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างทุกคนในครอบครัวด้วย" การที่เด็ก ๆ ได้เห็นคนอื่น ๆ แสดงอาการตอบสนองต่อสัตว์เลี้ยง และมีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งมีชีวิต —โดยไม่มีความซับซ้อนทางสังคมมากเท่ากับมนุษย์ — ก็เท่ากับเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเด็กออทิสติกทั้งหลาย ให้เข้าไปสู่การแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลทางสังคม ซึ่งเคยเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนในความคิดของพวกเขามาก่อน
 
การศึกษาดังกล่าวไม่ใช่การทดลองภายใต้การควบคุม ดังนั้น จึงไม่มีการตัดความน่าเป็นไปได้ออกไป นั่นคือ ความน่าเป็นไปได้ที่ว่า ครอบครัวซึ่งนำเอาสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านตอนเด็กอายุ 4-5 ขวบ อาจมีความแตกต่างจากครอบครัวที่ไม่เลี้ยงสัตว์ในหลายๆ ทางที่ไม่มีการประเมินผลไว้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ และเนื่องจากการศึกษานี้เป็นการศึกษาขนาดย่อม จึงยังไม่อาจนำมาใช้ตอบคำถามบางข้อได้ เช่น สัตว์บางประเภทอาจช่วยเด็กได้มากกว่าสัตว์อีกประเภทหรือไม่ เป็นต้น
 
การศึกษาวิจัยนี้ ถือเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่มาช่วยสนับสนุนว่า สัตว์เลี้ยงสามารถพัฒนาสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้กับบุคคลทุกเพศทุกวัยได้ ข้อมูลก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า การมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน จะช่วยลด ความเครียด ทำให้อารมณ์ดีขึ้น และอาจป้องกันการเกิดอาการภูมิแพ้บางชนิดได้ ถ้ามีการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงตั้งแต่เด็กยังอายุน้อยอยู่ อย่างไรก็ดี เพียงแค่การมีสัตว์เลี้ยงอยู่ข้าง ๆ ตัวนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านจิตใจเสมอไป คุณจะต้องรักและมีความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงของคุณด้วย มิฉะนั้นแล้วการมีสัตว์เลี้ยงก็ไม่ช่วยให้ความเครียดลดลง หรือทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้เลย

แปลและเรียบเรียง Pets Can Help Autistic Children Learn to Share and Comfort Others จาก TIME.com

ภาพประกอบบทความออทิสติก

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก