ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ถาม-ตอบ : นักจิตวิทยา Simon Baron-Cohen เรื่องความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นและศาสตร์แห่งความชั่วร้าย

Maia Szalavitz 30 พฤษภาคม 2554

Simon Baron-Cohen ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Cambridge และผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสซึ่มชั้นแนวหน้า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางจากการศึกษาวิจัยทฤษฎีที่เชื่อว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดอาการออทิสติก คือ ความมี “ใจบอด” ( mind blindness ) ผนวกกับความยากลำบากในการทำความเข้าใจในความนึกคิด อารมณ์ความรู้สึก และความตั้งใจของคนอื่น และเขายังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำหนดแนวคิดเกี่ยวกับอาการออทิสติกที่เรียก ว่า “ภาวะสมองที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงสุด” ( extreme male brain ) ซึ่งบอกให้เรารู้ว่า การได้รับฮอร์โมน testosterone (ฮอร์โมนเพศชายที่สร้างลักษณะผู้ชาย) ในระดับสูงขณะยังอยู่ในครรภ์มารดา อาจเป็นสาเหตุทำให้สมองเน้นความสำคัญไปทางด้านภูมิรู้และการจำแนกรูปแบบต่างๆ อย่างมีระบบระเบียบ มากกว่าการใช้อารมณ์ความรู้สึกและความผูกพันกับคนรอบข้าง (อ้อ! ลืมบอกไปว่า เขาเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนักแสดงตลกชาวอังกฤษ Sacha “Borat” Baron Cohen ด้วย )
 
หนังสือเล่มใหม่ของศาสตราจารย์ Baron-Cohen ที่ชื่อ “ศาสตร์แห่งความชั่วร้าย: เกี่ยวกับความเข้าอกเข้าใจคนอื่นและต้นกำเนิดของความโหดร้าย ( The Science of Evil: On Empathy and the Origins of Cruelty ) ได้วิเคราะห์ความสำคัญของความเข้าใจ และความสามารถที่จะเข้าใจและใส่ใจต่อความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งไม่เพียงแต่จะศึกษาในผู้มีอาการออทิสติกเท่านั้น หากยังรวมไปถึงคนที่มีอาการจิตป่วน (หรือพวกอาชญากรโรคจิต) ที่ผู้ป่วยไร้ความใส่ใจในคนรอบข้าง ซึ่งนำไปสู่การมีพฤติกรรมทำลายล้างและต่อต้านสังคม     
 
ถาม: เมื่อคุณเขียนถึงความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นแบบ “zero negative” นั้น คุณหมายถึงอะไรกันแน่?
 
ตอบ: Zero empathy หมายถึง กลุ่มบุคคลที่อยู่ปลายแถวของมาตรฐานที่ใช้วัดความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพแปรปรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่มีบุคลิกภาพแปรปรวนแบบต่อต้านสังคม ( antisocial personality disorder – ASPD ) ผมจะเน้นหนักไปที่เรื่องอาการจิตป่วน ( ในพวกอาชญากรโรคจิต ) ( คือ ASPD ในแบบที่รุนแรงมาก ) รวมถึงอาการผิดปกติทางบุคลิกภาพอีก 2 ประเภท ได้แก่ การมีบุคลิกภาพแปรปรวนจากความคิดสุดโต่ง ( borderline personality disorder ) * และบุคลิกภาพแปรปรวนจากความหลงตัวเอง ( narcissistic personality disorder )
 
คำ ‘negative’ นี้ ผมตั้งใจให้เป็นรหัสย่อของการไร้ความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น ไม่เพียงแต่ต่อคนใดคนหนึ่ง หากรวมไปถึงต่อคนรอบข้างด้วย ผมตั้งใจให้คำคำนี้ มีความหมายตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผมเรียกว่า ความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นแบบ ‘zero positive’  (‘zero positive’ empathy ) ซึ่งสามารถอธิบายกลุ่มอาการออทิสติกได้อย่างดียิ่ง
 
[ ผู้ที่มีอาการออทิสติก ] ต้องใช้ความพยายามกับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เช่นเดียวกับคนในกลุ่ม zero negative แต่ดูเหมือนจะเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันอย่างมาก ผมขอโต้แย้งว่า ความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นในระดับต่ำ เป็นผลพวงจากรูปแบบการคิดที่ผิดจากธรรมดา ซึ่งใส่ใจในรายละเอียด และแบบแผน หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยผมขอเรียกรูปแบบการคิดนี้อย่างย่อ ๆ ว่า การจัดเข้าระบบ ( systemizing )
 
 * Borderline Personality Disorder เป็นอาการที่ผู้ป่วยมีสัมพันธภาพของกับผู้อื่น และมีอารมณ์แปรปรวน ไม่คงที่ รวมทั้งควบคุมตนเองไม่ได้อย่างมาก  
 
ถ้าเรานึกถึงกลุ่มอาการออทิสติก ว่าเป็นการเกี่ยวข้องกับการผลักดันอย่างรุนแรงให้เกิดการจัดระบบ ที่อาจส่งผลในแง่บวกอย่างมากต่อแต่ละคนและต่อสังคม แต่ผลในแง่ลบก็คือเมื่อคุณพยายามจะจัดระบบบางสิ่งบางอย่างในโลก อย่างเช่นผู้คนและอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์เหล่านี้ ไม่ได้ชอบด้วยกฎหมายสักเท่าใดนัก และยังยากต่อการจัดเข้าระบบอีกด้วย สิ่งนี้เอง ทำให้คนมีความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นน้อยมาก จนเกือบเหมือนเป็นเพียงผลพลอยได้จากการจัดระบบอย่างแข็งขันเท่านั้น
 
ถาม: คุณจะให้เหตุผลเกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นอย่างมากและเป็นคนมีระบบระเบียบอย่างมากในเวลาเดียวกัน อย่างเช่น คนในกลุ่มอาการ Asperger บางคน ที่ไวต่อความรู้สึกของคนอื่นมากจนเกินไป อย่างไร?
 
ตอบ: ผมเองก็ไม่ได้ละเลยกลุ่มคนประเภทนี้ไปแต่อย่างใด ผมเคยพบปะกับกลุ่มคนผู้มีอาการ Asperger ที่ผมแน่ใจว่าเขาจะต้องเสียใจมาก หากรู้ว่าเขาได้ทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น กลุ่มคนเหล่านี้ มีแนวปฏิบัติและจิตสำนึกทางด้านศีลธรรมสูงมาก พวกเขาให้ความสำคัญกับการไม่ทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น และถึงแม้ว่า พวกเขาอาจจะคอยระวังตัวว่า ได้พูดจาหยาบคายหรือทำร้ายคนอื่นไปบ้างหรือไม่ แต่ถ้ามีใครมาบอกให้รู้ด้วยแล้ว พวกเขาก็จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขอย่างแน่นอน
 
อีกด้านหนึ่งของความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่พบในกลุ่มคนเหล่านี้ คือ ความตระหนักอย่างรุนแรงในความเที่ยงธรรมและความเป็นธรรม และอาจรู้สึกเช่นนั้นโดยการมองในลักษณะของการใช้เหตุใช้ผลมากจนเกินความจำเป็น เพราะคนกลุ่มนี้สามารถอธิบายให้ใครสักคนฟังเรื่องดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย
 
ถาม: ผู้คนมักจะคิดว่าผู้ที่มีอาการออทิสติกเป็นภัย เช่นเดียวกับพวกจิตป่วน หรืออาชญากรโรคจิต เมื่อได้ยินได้ฟังมาว่า คนกลุ่มนี้เป็นคนที่ “ไม่มีความห่วงใยในความรู้สึกของผู้อื่น”
 
ตอบ: นี่เอง คือ หนึ่งในแรงผลักดันให้ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ ความไม่ยอมห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น เป็นลักษณะหนึ่งของอาการป่วยหรือความแปรปรวนหลากหลายชนิด หนังสือทั่ว ๆไปจะเขียนเน้นไปที่เรื่องอาการจิตป่วน ( ในพวกอาชญากรโรคจิต ) หรือไม่ก็โรคออทิสซึ่มอย่างใดอย่างหนึ่ง [ ไม่ใช่ทั้งสองเรื่องพร้อมกัน ] อันที่จริง เราจำเป็นต้องพิจารณาทั้งสองโรคนี้ควบคู่กันไป แล้วจึงจะได้เห็นว่า มีความแตกต่างกันอย่างมาก และการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างนั้น ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ 
 
ถาม: การที่ผู้ที่มีอาการออทิสติก จะไม่เก่งเรื่อง"การอ่านใจ"คนอื่น ที่เป็นส่วนหนึ่งของความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น ในความหมายของการคาดเดาพฤติกรรมหรืออารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นนั้น ถือว่าเป็นปัญหาหรือไม่ ในขณะที่คนที่มีอาการจิตป่วน ( ในพวกอาชญากรโรคจิต ) สามารถอ่านใจคนอื่นได้ แต่จะไม่แสดงความห่วงใยใด ๆ ออกมา
 
ตอบ: ผมเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างภาวะของทั้งสองโรคนั้น แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงการไม่ยอมมีส่วนร่วมที่เป็นส่วนหนึ่งของความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น ( dissociation within empathy ) คนที่มีอาการจิตป่วน  ( ในพวกอาชญากรโรคจิต ) จะมีความสามารถในการอ่านใจเหยื่อของเขา จะเห็นได้ชัดจากการรู้จักใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงคนอื่น ซึ่งคุณจะต้องเก่งเรื่องการอ่านใจของคนอื่น ก่อนที่ตัวคุณเองจะรู้ตัว [ ว่าอยากจะหลอกลวงคนอื่น ] เสียอีก แม้คุณจะได้รู้ว่าส่วนกระบวนการทางความคิด ที่อยู่ในความรู้สึกเห็นอกเห็นใจของคนพวกนี้ ยังคงทำงานเป็นปกติดีอยู่ และก็ต้องรับรู้ความจริงด้วยว่า พวกเขาขาดการสนองตอบทางอารมณ์อย่างเหมาะสมต่อสภาวะจิตใจของคนอื่น ๆ เช่น ความรู้สึกต้องการช่วยบรรเทาความทุกข์โศกให้กับคนที่กำลังเจ็บปวด [สิ่งนี้เองบอกให้เรารู้ว่า] ความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกของคนพวกนี้ เกิดความแปรปรวน
 
ถาม: ถ้าเช่นนั้น อะไรเล่าที่มาหยุดยั้งการพัฒนาความรู้สึกเห็นอกเห็นใจของผู้ป่วยที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ?
 
ตอบ: ในหนังสือ ผมได้วิเคราะห์ไว้ทั้งปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม ทางครอบครัวและทางพันธุกรรมตั้งแต่ผู้ป่วยอายุยังน้อย ผมคิดว่าได้เขียนไว้อย่างชัดเจนในกรณีของการมีบุคลิกภาพแปรปรวนจากความคิดสุดโต่ง ( Borderline Personality Disorder – BPD ) ว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น ระหว่างการถูกทอดทิ้ง ละเลย และถูกทารุณกรรมตั้งแต่ยังเด็ก กับผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดอาการ BPD ในเวลาต่อมา ในกรณีของคนที่มีอาการจิตป่วน (หรือพวกอาชญากรโรคจิต) นั้น ก็มีความเกี่ยวพัน [ กับการถูกทารุณกรรม และความเจ็บช้ำทางใจมาตั้งแต่ยังเด็ก ] ดังกล่าวเช่นกัน หากยังไม่มากเท่าในกลุ่ม BPD
 
ถาม: ช่วยอธิบายความหมายของการมีบุคลิกภาพแปรปรวนจากความคิดสุดโต่ง (Borderline Personality Disorder) ว่าเป็นอย่างไร?
 
ตอบ: ผู้มีอาการ BPD ดูเหมือนจะควบคุมตัวเองได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมอารมณ์ คนที่เป็น BPD จำนวนมาก จะมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย ในขณะที่หลายคนมีประวัติการถูกทำร้ายความรู้สึกหรือขาดคนให้ความเอาใจใส่มาก่อน จึงอาจพูดได้ว่า คนที่มีอาการ BPD จะมีความรู้สึกไวต่อการเกิดภัยคุกคามจากคนอื่นอย่างมาก
 
คนกลุ่มนี้ จะมีปฏิกิริยาตอบโต้แม้เพียงแค่ถูกสัมผัสที่ปลายผม และเมื่อใดที่รู้สึกว่าตนจะถูกจู่โจม ผู้มีอาการ BPD จะเป็นฝ่ายเข้าโจมตีก่อนทันที คนที่มีอาการ BPD อาจหมกมุ่นอยู่กับความรู้สีกว่า คนอื่นจะไม่สนใจตนหรือไม่เข้าใจตนเอง จนไม่คำนึงว่าการกระทำของตนนั้นจะมีผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไรบ้าง
 
ถาม:  คุณจะสามารถสร้างความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นให้เพิ่มพูนขึ้นในคนที่มีอาการดังกล่าวได้อย่างไร?
 
ตอบ: มีแนวทางการบำบัดรักษาความผิดปกติของการไร้ความห่วงใยในความรู้สึกผู้อื่นที่น่าสนใจและสร้างสรรค์อยู่ไม่น้อย บ้างก็ใช้การรักษาด้วยยาเช่น oxytocin บ้างก็ใช้การบำบัดทางจิต เช่นในผลงานการบำบัดภาวะทางจิต ( mentalization therapy ) ของ Peter Fonagy ตัวผมเองไม่เคยเห็นการรักษาดังกล่าว แต่โดยหลักการแล้ว คือการกระตุ้นให้ผู้ป่วยหยุดคิดเรื่องเดิมๆ และให้คิดถึงความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นแทน การรักษาแบบนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะกับอาการ BPD ใครก็ตามที่มีอาการดังกล่าว จะคิดถึงแต่ตัวเองอยู่ตลอดเวลา นักบำบัดก็จะกระตุ้นให้รู้จักให้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดหรือมุมมองของคนอื่นบ้าง และเพียงแค่ให้ทำซ้ำๆ และฝึกฝนอยู่เสมอ แล้วอาการก็จะดีขึ้นเองตามลำดับ
 
ถาม:  ฉันยังไม่เห็นเลยว่า วิธีการนี้จะได้ผลกับพวกจิตป่วน ( หรืออาชญากรโรคจิต ) ได้อย่างไร?
 
ตอบ: หลายคนกำลังลองใช้วิธีการทดลองทางคลินิกเพื่อรักษาคนที่มีอาการจิตป่วน ( หรือพวกอาชญากรโรคจิต ) เช่นกัน เช่น ให้พวกเขาได้พบกับเหยื่อ แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ เสี่ยงต่อการเกิดความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจ [ ให้กับเหยื่อ ] แต่ก็ถือว่าเป็นการฝึกให้พวกเขารู้จักคิดในมุมมองของคนอื่นบ้าง
 
ผมคิดว่า ถ้าเราเอาจริงเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่า พฤติกรรมของคนเรา เป็นผลจากการสั่งงานของสมอง — ว่าการไม่ค่อยจะมีความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นนั้น เป็นผลจากการที่วงจรแห่งความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นยังคงทำงานอยู่หรือได้รับการพัฒนาแล้ว — ทำให้มีคำถามทางศีลธรรมเกิดขึ้นมากมาย เช่น เหตุใดเราจึงต้องตัดสินใครบางคนที่ไม่ค่อยแสดงออกถึงความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นว่าเป็นคนเลว สมควรแก่การลงโทษด้วย? นี่เองทำให้เกิดการเปลี่ยนตำแหน่งของยีนส์ในโครโมโซมในตำแหน่งที่  พวกเขาควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีเหตุมีผลถูกต้องตามศีลธรรม จากระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไปสู่การดูแลสุขภาพ
 
ถาม: คุณไม่คิดบ้างหรือว่า ยังมีคนชั่วที่รู้ดีว่า สิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นผิดและเป็นอันตราย แต่ก็ยังคงเลือกที่จะทำอย่างนั้นต่อไป?
 
ตอบ: ผมเขียนแย้งไว้ในหนังสือแล้วว่า ผมไม่คิดว่า คำว่า ‘ชั่วร้าย’ จะน่านำมาใช้เท่าใดนัก ก็ในเมื่อคนๆ หนึ่งไม่เคยมีความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นเลย ดังนั้น พฤติกรรมสารพัดประเภท คนๆ นี้ย่อมทำได้ทั้งนั้น ผมจึงไม่เห็นประโยชน์อันใดในทางวิทยาศาสตร์ ที่จะนำคำ ๆ นั้นมาใช้ ผมถือว่า ‘ความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น’ เป็นคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ ‘ชั่วร้าย’ ไม่ใช่  คุณลองพยายามกำหนดตำแหน่งมันลงไปในสมองดู แล้วคุณก็หาว่าส่วนไหนของสมองกันแน่ที่ถูกกระตุ้น ที่จริง มันคือพฤติกรรมพื้นฐาน ผมเข้าใจว่า ‘ชั่วร้าย’ คืออะไรสักอย่างที่ตรงกันข้ามกับ ‘ดี’  แต่ ‘ความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น’ อย่างที่เราพูดกันมาก่อนหน้านี้ สามารถบ่งบอกจำนวนได้และเป็นสิ่งปกติวิสัย คุณสามารถวัดมันได้ ค้นหามันได้ในสมอง ในขณะที่คุณหาความชั่วร้ายไม่พบ
 
ถาม: มีการโต้แย้งว่า มนุษย์สามารถสร้างความร่วมมือหรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้โดยการหาว่าผู้ใดไม่ร่วมมือและลงโทษพวกเขาเหล่านั้น
 
ตอบ: ผมมองเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นทางด้านวิวัฒนาการ ทั้งของการมีความห่วงใยความรู้สึกผู้อื่น และการไร้ซึ่งความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น การไม่มีความห่วงใยในความรู้สึกผู้อื่น ทำให้คนแสดงความเห็นแก่ตัวออกมา ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่คุณสนใจอยู่แล้ว แต่การมีความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นมากๆ จะช่วยหล่อเลี้ยงความผูกพันอันแน่นแฟ้นของสังคม และถือเป็นเรื่องดีที่แต่ละคนจะลงเอยด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสังคม
 
ผมลองมาพิจารณาดู ก็เห็นว่า บางทีคนส่วนใหญ่เลิกไปเสียกลางคัน ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุดก็ได้ การมีความห่วงใยในความรู้สึกผู้อื่นบ้างนั้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยที่สุด คุณก็จะหลีกเลี่ยงการไม่ทำให้คนอื่นโกรธหรือการทำร้ายคนอื่นโดยไม่ตั้งใจลงไปได้ แต่การมีความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นมากจนเกินไป จะไม่มีวันทำให้คุณทำอะไรสำเร็จได้เลย
 
ถาม: Sacha Baron Cohen ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่อง Borat ลูกพี่ลูกน้องของคุณ ประเมินค่าความเห็นอกเห็นใจไว้อย่างไรล่ะ? ผลงานของเขาอาจทำให้คุณจำต้องยอมรับ แต่เขาก็จะต้องเป็นคนเก่งในการล่วงรู้ใจคนอื่นได้เป็นอย่างดีกว่าจะทำงานชิ้นนี้ออกมาได้
 
ตอบ: ประการที่หนึ่ง เขาและผมมีข้อตกลงกันภายในครอบครัวว่า เราจะไม่พูดเรื่องของกันและกัน ผมเคารพผลงานของลูกพี่ลูกน้องของผม ผมคิดว่าผลงานในแนวตลกของเขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่คุณเรียกว่า “การตอบรับแบบจำยอม” เป็นความจำยอมที่สร้างความลำบากใจ แต่มันก็มีเหตุผลในตัวของมันเอง
 
ถาม: ทำไมคนในวัยหนุ่มสาวไม่ค่อยจะมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น?
 
ตอบ: การที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะเห็นว่า เด็กวัยหนุ่มวัยสาวมีความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นน้อยมาก ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ แต่ในช่วงอายุดังกล่าว คนหนุ่มสาวเหล่านี้ ยังคงมีความเป็นผู้ใหญ่อยู่มากในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น อาจเป็นเรื่องของปัจจัยเกี่ยวกับฮอร์โมน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน testosterone ที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น
 
ผมประทับใจมากเมื่อสังเกตเด็ก ๆ ที่มีภาวะ "terrible twos"** ผู้ซึ่งสำแดงฤทธิ์เดชเมื่อไม่ได้อย่างใจต้องการ และในเด็กวัยรุ่น ที่ในระดับหนึ่ง ดูเหมือนกับแทบไม่มีการพัฒนาอะไร (** เป็นอาการซึ่งเกิดกับเด็กวัย 2 ขวบ ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง อยากทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งที่ยังไม่มีเหตุผล แต่ก็เถียงเป็น ) เกิดขึ้นเลย ขณะเมื่อเด็กอายุราว 4 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เด็กจะมีความสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า คนอื่น ๆ มีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปจากตนเอง คุณอาจคิดว่า ความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น จะขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในวัยเด็กเล็ก แต่ที่จริงแล้วดูเหมือนว่าจะมีระยะเวลาของพัฒนาการที่ยาวนานทีเดียว
 
ถาม: สำหรับฉันแล้ว ดูเหมือนว่า วัย terrible twos และวัยหนุ่มสาว เป็นช่วงอายุที่มีการพัฒนาทางสมองอย่างมาก เป็นไปได้หรือไม่ว่า นี่คือเหตุที่ทำให้ความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นเริ่มมีปัญหา
 
ตอบ: ข้อสันนิษฐานข้อนี้น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว ผมเห็นว่าการพัฒนาการของสมองไปยังจุดที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง และเป็นเพียงประสบการณ์ในความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ผมเห็นว่า การรู้จักห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น จำเป็นต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมในการสร้างความสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมนี้เอง ก็คือความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ การเกิดความผิดพลาดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นส่วนหนึ่งของการที่จะทำให้รู้จักห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่น
 
ผมเคยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมาก ผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมน testosterone มากเป็นพิเศษ ได้รับมอบหมายให้ทำ “แบบทดสอบมองตาอ่านใจ”  [ การทดสอบนี้ต้องการวัดว่า คนสามารถอ่านอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นผ่านการมองตาของเขาได้ดีเพียงใด ] การศึกษาพบว่า ถ้ามีการให้ฮอร์โมน testosterone ด้วยแล้ว คะแนนจากการทดสอบจะลดลง นี่คือหนึ่งในการสาธิตครั้งแรกๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมน testosterone ซึ่งส่งผลต่อความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นของคนเรา
 
ถ้าคุณกำลังมองในแง่ของแนวคิดทางวิวัฒนาการ การจู่โจมคนอื่นเพื่อใช้เป็นการป้องกันตัวอาจเป็นวิธีการปรับตัวที่ดีมาก วิธีการนี้อาจใช้ได้ผลอย่างมากก็ได้ ถ้าไม่มีประเด็นเรื่องความห่วงใยความรู้สึกของผู้อื่นเข้ามาขวาง
 
ถาม: แพทย์ชาวอเมริกันคนหนึ่ง พยายามจะรักษาผู้ที่มีอาการออทิสติกด้วยการลดระดับของฮอร์โมน testosterone ลง โดยใช้ผลงานของคุณมาอ้าง ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำการวิจัยอย่างถูกต้องสักเท่าใดนัก เขาเพิ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตเพราะใช้ยาที่เป็นสารเคมีซึ่งมีผลทำให้เด็กเป็นหมัน (chemical castration ) ในการทดลองครั้งนั้น
 
ตอบ: เรายังไม่ได้ตกลงใจจะใช้ [ การลดฮอร์โมน testosterone ]  ในการบำบัดเพื่อศึกษาโรคออทิสซึ่ม ผมไม่ค่อยสบายใจนักกับการบำบัดด้วยวิธีนี้ โดยเฉพาะเมื่อมองถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ ในแง่ของจริยธรรม พวกเขาอ้างอิง [ งานวิจัยของพวกเรา ] ผิด ๆ และใช้อ้างเป็นหลักฐานว่า ฮอร์โมน testosterone จะมีระดับสูงขึ้นในผู้ป่วยออทิสซึ่ม ซึ่งอันที่จริง เราไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างนั้นสักหน่อย พวกเขาทำราวกับว่าได้การรับรองอย่างเป็นทางการจากเราแล้ว ซึ่งผมคงไม่ได้ทำอย่างนั้นแน่

แปลและเรียบเรียง Q&A _Psychologist Simon Baron-Cohen on Empathy and the Science of Evilจาก TIME.com

ภาพประกอบบทความออทิสติก

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก