ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การหาสาเหตุของโรคออทิสซึ่มและโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบต่อต้านสังคมภายในสมอง

Maia Szalavitz 10 เมษายน 2555

ผู้เชี่ยวชาญได้เฝ้าสังเกตมาเป็นเวลานานว่า ทั้งผู้ป่วยโรคออทิสซึ่มและผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพแปรปรวนนั้น จะมีปัญหาเรื่องความสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น หากก็ยังคงไม่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างสองโรคนี้ได้
 
ผู้ป่วยโรคออทิสซึ่มจะมีความวิตกกังวล และจะตีความหรือเข้าใจการสื่อสารด้วยภาษากายในทางที่ผิด แต่โดยพื้นฐานแล้ว ผู้ป่วยโรคออทิสซึ่มจะไม่ทำร้ายใคร เพียงแต่มีบ่อยครั้งที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เท่านั้น ส่วนผู้ที่เป็นโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบต่อต้านสังคม จะบังคับให้คนอื่นทำตามที่ตนต้องการและดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีความกลัวเจืออยู่บ้าง อีกทั้งยังมีความสุขในการทำร้ายผู้อื่นให้เจ็บปวดด้วย
 
จากการศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้เน้นให้เห็นถึงความแตกต่างของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของอาการออทิสติกและลักษณะเฉพาะของการต่อต้านสังคม และได้พบเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนที่ยังคงมีอยู่ตลอดพัฒนาการของเด็ก ผู้ทำการวิจัยได้จำลองภาพเยาวชนที่มีพัฒนาการตามปกติจำนวน 323 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 11 ปี ผู้ปกครองของเด็กเป็นผู้ให้ระดับคะแนนของการมีลักษณะออทิสติกหรือลักษณะต่อต้านสังคม ยกตัวอย่างเช่นลักษณะของโรคออทิสซึ่ม อาจประกอบด้วย การ “มีปัญหาเมื่อต้องเข้ากลุ่ม” หรือ “ชอบอยู่คนเดียวมากกว่าอยู่กับเพื่อนๆ ” ตัวผู้ปกครองเอง ก็จะถูกร้องขอให้ระบุว่าอาการของลูกของตนนั้นตรงกับลักษณะใดที่สุด ส่วนตัวอย่างของพฤติกรรมต่อต่อต้านสังคม ก็ได้แก่ การ “พูดโกหกได้อย่างง่ายดาย ด้วยความชำนาญ” และการ “ทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา”
 
ผลปรากฏว่า ไม่มีเด็กคนใดมีลักษณะของโรคออทิสซึ่มและโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบต่อต้านสังคมครบถ้วนตามเกณฑ์เลยสักราย ( ในผู้ป่วยเด็ก โรคอย่างหลัง มักเรียกกันว่า มีความประพฤติผิดปกติ ) และการวินิจฉัยโรคจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเด็กคนนั้นมีลักษณะของความผิดปกติที่ชัดเจนหลาย ๆ อย่าง ส่วนคนที่มีลักษณะผิดปกติน้อยกว่าหรือเบาบางกว่า ก็จะสามารถพบได้ในจำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งหมดเช่นเดียวกัน สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการปรากฏชัดหรือภาวะคล้ายออทิสซึ่มในกลุ่มอาการของโรคออทิสซึ่ม ที่เรียกว่า ภาวะคล้ายออทิสซึ่ม — broader phenotype — ซึ่งรวมการมีปัญหาทางสังคมและการสื่อสารไว้ด้วยนั้น ดูเหมือนว่าความแตกต่างของสมองจะมีภาวะของความผิดปกติแบบสุดโต่ง น้อยกว่าที่พบในผู้ป่วยที่มีการวินิจฉัยโรคมาแล้ว
 
แม้ว่าลักษณะของทั้งสองโรคนี้ จะมีความสัมพันธ์กันอยู่ นั่นหมายความว่า คนที่มีลักษณะเป็นออทิสติก ก็มักจะมีนิสัยต่อต้านสังคมอยู่ด้วย สิ่งนี้อาจสะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่า ทั้งสองโรคนี้ สามารถสร้างพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคม มากกว่าจะบอกว่าสองโรคนี้มีสาเหตุที่คล้ายคลึงกันอย่างแท้จริง
 
อันที่จริง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้เขียนไว้ว่า “เห็นได้ชัดว่า บริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะออทิสติกและลักษณะต่อต้านสังคม จะมีความแตกต่างกันของโครงสร้างอย่างชัดเจน จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ความแตกต่างอย่างน่าประหลาด” ( strikingly different ) ทีเดียว
 
เด็กที่มีลักษณะทางออทิสติกสูง มีเนื้อเยื่อสมองที่บาง (เนื้อเยื่อสมองน้อย) โดย เฉพาะบริเวณเหนือสมองกลีบขมับ และเปลือกนอกของกลีบสมองส่วน tempo -roparietal ซึ่งเป็นบริเวณที่เคยพบมาก่อนว่า จะมีขนาดเล็กกว่าปกติในคนที่เป็นออทิสติก สมองบริเวณดังกล่าว มีหน้าที่ในการประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางสังคม โดยเฉพาะการมีความสามารถในการเข้าใจจิตใจของผู้อื่น และยอมรับในทัศนคติที่แตกต่าง แต่เด็กที่มีลักษณะต่อต้านสังคมในระดับสูง จะพบว่าเนื้อเยื่อสมองมีความบางในบริเวณด้านหน้าเปลือกนอกของกลีบหน้าผากส่วนหน้า ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีขนาดเล็กลงในผู้ป่วยโรคจิตที่เป็นผู้ใหญ่ สมองส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับเหตุผลทางศีลธรรม เราจะเห็นความบกพร่องของสมองส่วนนี้ได้อย่างชัดเจนในคนที่มีความสุขเมื่อได้บังคับกดขี่และทำร้ายผู้อื่น
 
แม้ว่าผลการวิจัยปัจจุบันจะพบว่า ความแตกต่างในพื้นที่ต่างๆ ของสมองดังกล่าวนี้จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในขณะที่เด็กโตขึ้นแต่อย่างใด แต่ยังดีที่เป็นที่ทราบกันว่า เด็กหลายคนที่มารับการตรวจ และพบว่ามีลักษณะดังกล่าวข้างต้น สามารถเอาชนะความบกพร่องนี้ได้ และเด็กบางคน ยังเจริญเติบโตพ้นจากอาการผิดปกติที่มีการวินิจฉัยไว้ก่อนโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น ในการศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า เด็กออทิสติกที่มีความสามารถในการเรียนรู้ต่ำ จำนวนร้อยละ 10 จะ “เบ่งบาน” ( ตามวัยหนุ่มสาว ) ในช่วงวัยรุ่น และมีการพัฒนาจนเป็นผู้มีความสามารถในการเรียนรู้สูง นอกจากนี้ เด็กที่มีความสามารถในการเรียนรู้สูงหลายคน กลับมีการพัฒนาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่บางคนไม่หลงเหลืออาการผิดปกติอย่างที่เคยมีการวินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้แต่อย่างใด
 
จำนวนร้อยละ 60 ของเด็กที่ตรวจพบว่ามีความประพฤติผิดปกติ จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่จะพัฒนาไปเป็นความแปรปรวนของบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคมเมื่อเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็นับว่ายังห่างไกลจากการก้าวไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของกลุ่มอาการบุคลิกภาพแปรปรวนแบบต่อต้านสังคม ที่เรียกว่า โรคจิต หรือโรคต่อต้านสังคม
 
ผลการวิจัยใหม่นี้ ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Neuroscience โดยกลุ่มนักวิจัยจากสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ (National Institute of Mental Health)

แปลและเรียบเรียง Seeking the Roots of Autism and Antisocial Personality in the Brain จาก TIME.com

ภาพประกอบบทความออทิสติก

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก