ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ทำให้เกิดผล: กลยุทธ์ที่จดจำง่ายเพื่อยกระดับการเรียนรู้ ตอนที่ 1

Regina G. Richards (2008)

จงคิดถึงวิธีที่คุณใช้จำอะไรสักอย่างดู:

  • เมื่อคุณต้องการจำหมายเลขโทรศัพท์ คุณใช้การทำซ้ำ ๆ กับตัวเองหลายๆ ครั้ง จนกว่าจะจำตัวเลขได้หมดใช่ไหม?
  • เวลาที่คุณไปร้านขายของชำ และต้องการจำรายการของให้ได้ 4 รายการ คุณใช้การยกนิ้ว 4 นิ้วขึ้นมานับช่วยจำได้ใช่หรือไม่?
  • เวลามีคนถามคุณเกี่ยวกับงานแต่งงานที่คุณไปมาเมื่อสองสามปีก่อน คุณจะฟื้นความจำได้อย่างไร? บางคนอาจนึกถึงอาหารในงานก่อนอื่น อีกหลายคนอาจนึกถึงชุดของเจ้าสาว บางคนก็อาจยังจำได้ถึงการจัดตกแต่งภายในงาน เมื่อใดที่คุณจะต้องย้อนนึกทบทวนความทรงจำ การย้อนนึกถึงแต่ละครั้งนั้น ดูเหมือนจะเป็นการกระตุ้นให้นึกถึงส่วนเสริมเติมแต่งของงานนั้นขึ้นมาได้
  • คุณจะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถจำได้ว่าจะต้องโทรศัพท์ไปแจ้งเรื่องสำคัญในตอนที่คุณกำลังขับรถกลับบ้าน คุณรู้ว่าเมื่อย่างเท้าเข้าบ้าน สุนัขคงกำลังเห่า และลูกแต่ละคน ก็จะมีเรื่องที่ต้องรีบเล่าให้คุณฟัง ตอนนั้น คุณเองก็ไม่มีกระดาษอะไรจะมาจดโน้ตได้ บางคนอาจจะใช้วิธีร้องหรือพูดออกมาเป็นทำนองเพลง "โทร. หาเขาด้วย - โทร. หาเขาด้วย” ในขณะที่คนอื่น ๆ อาจนึกเห็นภาพที่มีความเชื่อมโยงกับการโทรศัพท์ ยามเมื่อเขาเดินเข้าไปในห้องและวางห่อของลง กิริยาท่าทางนี้เอง จะไปช่วยกระตุ้นเตือนให้เขานึกขึ้นได้ว่า เขาจะต้องโทรศัพท์

การใช้กลยุทธ์โดยพื้นฐานนั้น หมายถึง การทำอะไรให้ช้าลง เป็นกระบวนการลดความเร็วลงเพื่อให้คุณจะสามารถควบคุมคุณภาพของการกระทำนั้น ๆ ได้

Mel Levine ได้นำเสนอไว้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘Enabling Without Labeling (การทำได้โดยไม่ถูกตราหน้า)’ เดือนพฤษภาคม 2000 สนับสนุนโดยสมาคมผู้มีความบกพร่องทางการอ่านนานาชาติ สาขา Inland Empire เมืองออนตาริโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย

เราทุกคนใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อให้สามารถจดจำข้อเท็จจริงและแนวคิดต่างๆที่เราจำเป็นต้องเก็บไว้ การใช้กลยุทธ์สร้างส่วนสำคัญในประสบการณ์ด้านการเรียนรู้ของเรา กลยุทธ์ต่างๆ ช่วยเราจัดระบบข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ และช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีจุดหมาย สมองของเรานั้นช่างเลือกเฟ้น สมองมีแนวโน้มจะจดจำข้อมูลที่ประกอบขึ้นเป็นรูปแบบของความทรงจำ

ในฐานะของครู นักบำบัด (โรค) และพ่อแม่ผู้ปกครอง การมีความเข้าใจพื้นฐานในวิธีการจดจำข้อมูล จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเรา เพื่อที่เราจะสามารถมองเห็นคุณค่าของความจำเป็นในการใช้กลยุทธ์ เมื่อเราเข้าใจในวัตถุประสงค์ เราจะมีความรู้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือให้นักเรียนเข้าใจและใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เป็น

กระบวนการของการเก็บความจำในสมอง

การเก็บความจำในสมอง เป็นกระบวนการซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบมากมายซึ่งทำงานในเวลาเดียวกัน คำอธิบายของเราเกี่ยวกับส่วนประกอบโดดๆ เป็นเพียงการนำเสนอเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว สมองของเราก่อให้เกิดข้อมูลแบบบูรณาการ ทุกอย่างเริ่มต้นจากการรับข้อมูลเข้าสู่สมองโดยผ่านประสาทสัมผัสจากสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ระบบรับความรู้สึก หรือประสาทสัมผัส เราจะมองเห็น รู้รส ได้ยินเสียง หรือรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกหรือสิ่งเร้าต่าง ๆ คนเรามีกลไกในการกรองและกำจัดข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่จำเป็นออกไป อย่างเช่นความรู้สึกขณะเดินอยู่บนพรม หรือเสียงของเครื่องปรับอากาศ กลไกการกรองแบบเดียวกันนี้ จะมาจัดระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ให้อยู่ในรูปแบบที่มีความหมาย มีความสำคัญ  ในภาพที่ 1 รูปกรวย และเครื่องกรอง ได้แก่กระบวนการต่าง ๆ ดังกล่าว คือ การรับข้อมูลเข้าสู่สมองจากสิ่งแวดล้อม (sensory input) และความจำจากการรับสัมผัส (sensory memory)

อธิบายภาพด้านล่าง

Sensory Input - ส่วนรับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่สมอง

Sensory Memory – ส่วนความจำจากการรับสัมผัส

Filtering Mechanism – กลไกของการกรอง

Meaningful Output – ข้อมูลส่งออกที่มีความหมาย

Short-term Memory – ส่วนความจำระยะสั้น  

Long-term Memory – ส่วนความจำระยะยาว


รูปที่  1 แผนภูมิแสดงกระบวนการของการเก็บความจำในสมอง

แผนภูมิในรูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงระบบของการเก็บความจำในสมอง: ข้อมูลที่เคลื่อนมาจากส่วนรับข้อมูลจากสิ่ง แวดล้อมเข้าสู่สมอง (Sensory Input) ผ่าน ส่วนความจำจากการรับสัมผัส (Sensory Memory) และส่วนความจำระยะสั้น (Short-term Memory) ไปยัง ส่วนความจำระยะยาว ในที่สุด (Richards, 2003 หน้า 17) ข้อมูลที่ ‘กอบโกยไว้’ หรือถูกทำให้มีความหมายขึ้นมา จะเคลื่อนที่ไปยังส่วนความจำระยะสั้น สมองของคนเราถูกกำหนดให้เอาใจใส่กับสิ่งพิเศษที่ไม่ธรรมดา คือสิ่งที่แตกต่างออกไป เป็นการรวมเอาความใหม่ของสิ่งต่าง ๆ เช่น อารมณ์ การเคลื่อนไหว หรือดนตรี เข้าด้วยกันกับกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้ข้อมูลนั้นดึงดูดความสนใจของเรา
 
การใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ นั้น มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการป้อนข้อมูลด้านโครงสร้าง เพราะช่วยให้ข้อมูลที่ถูกป้อนเคลื่อนที่ไปยังส่วนความจำระยะยาวในรูปแบบที่มีความหมายและจดจำได้ การที่จะทำให้เรามีความจำที่ยาวนานกว่าเดิม จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่ถูกป้อนเข้ามาถูก “ทิ้ง” ไปเสียก่อน เราสามารถทำได้โดยเชื่อมโยงมันเข้าด้วยกันอย่างมีความหมายด้วยความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม
 
หากข้อมูลนั้นมีความสำคัญและถูกนำมาใช้ มันจะเคลื่อนที่ไปยังส่วนอื่นของสมอง เพื่อแปลความหมาย แล้วเก็บไว้ในส่วนความจำระยะยาวในที่สุด ในรูปที่ 1 ตู้เอกสารเปรียบได้กับส่วนความจำระยะยาว ซึ่งความจำนั้นจะไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้เป็นอย่างดีในที่ในทางทั้งหมด แต่ส่วนประกอบบางส่วนของประสบการณ์ที่เราเคยพบผ่าน จะถูกนำไปจัดเก็บไว้ในรูปแบบของแฟ้มส่วนตัวมากกว่า
 
เมื่อนึกถึงการทำงานของระบบการเก็บความจำนั้น เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ที่จะต้องทำความเข้าใจว่า คนแต่ละคนจะมีวิธีปฏิบัติและวิธีการจำแตกต่างกัน การเก็บสะสมความจำที่ได้รับมามีหลายวิธี เพียงแต่ว่ามีหลากหลายหนทางที่จะผลักดันไปยังจุดหมายปลายทาง คนคนหนึ่งอาจเลือกที่จะไปร้านของชำด้วยเส้นทาง A ในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจชอบใช้เส้นทาง B ซึ่งเหมาะสมด้วยกันทั้งสองวิธี ทำนองเดียวกันกับความจำ คนคนหนึ่งอาจชอบที่จะจำรายการยืดยาวด้วยการร้องเพลง ในขณะที่อีกคนหนึ่ง อาจชอบนึกภาพสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันมากกว่า ซึ่งไม่มีวิธีใดถูกต้องกว่ากัน
 
บทความนี้มุ่งเสนอคำแนะนำทางกลยุทธ์ที่หลากหลาย เราจำเป็นต้องให้ความสนใจกับปฏิกิริยาของเด็กๆ ที่มีต่อกลยุทธ์ต่าง ๆ แล้วช่วยให้เด็กแต่ละคน รู้จักเลือกและใช้กลยุทธ์ที่ตนรู้สึกสบายใจและเหมาะสมใกล้เคียงกับรูปแบบของวิธีการเรียนรู้ที่เด็กชอบมากที่สุด

กล่องเครื่องมือ RIP เพื่อการเก็บความจำ

กล่องเครื่องมือนี้ บรรจุกลยุทธ์หลัก 3 ประการ (RIP) เพื่อช่วยเก็บความจำไว้ ได้แก่ การทำซ้ำ ๆ(repetition - R) มโนภาพ/จินตนาการ (imagery - I) และรูปแบบปฏิบัติ (patterns – P) เด็กๆ หลายคนเชื่อว่า แค่เราอ่านอะไรสักอย่าง ก็พอแล้ว แต่ส่วนมาก เพียงเท่านั้น ยังไม่พอ คนเราจะจำอะไรสักอย่างได้ดีที่สุด ต่อเมื่อสิ่งนั้น เป็นระบบระเบียบ และมีการซักซ้อมมาเป็นอย่างดีแล้ว
 
ลองนึกภาพว่า ถ้าเราอยู่ในบทบาทของครู ผู้เชี่ยวชาญการบำบัดโรค และพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กสามารถใช้กลยุทธ์ในการจัดระเบียบข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม ดร. Mel Levine กุมารแพทย์แนะนำไว้ว่า: ผมคิดว่า ก่อนการทดสอบ ควรขอให้เด็กทำแผนการเก็บความจำมาส่ง เช่นเดียวกับแผนนำร่องที่จะสามารถทำให้เกิดแผนปฏิบัติจริงตามมา หรือพูดอีกอย่างหนังก็คือ การถามว่า คุณจะเก็บทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไป และเอาออกมาจากความจำของคุณได้อย่างไร? ทั้งนี้ ควรจะมีการให้คะแนนกับแผนที่เด็กทำมาส่ง ในสัดส่วนที่เท่ากับคะแนนการทดสอบด้วย (Levine และ Meltzer, 1998)
 
สองกลยุทธ์ต่อไปนี้ เป็นสิ่งช่วยเตือนความจำที่ใช้กันทั่วไป เพื่อกระตุ้นให้เด็กนำขั้นตอนของกระบวนการ
มาใช้ เมื่อจะต้องเก็บข้อมูลไว้ในส่วนความจำในสมอง คำหนึ่งคำหรือประโยคหนึ่งประโยค จะใช้แทนกลยุทธ์แต่ละอย่าง โดยตัวอักษรแต่ละตัวในคำหรือประโยคนั้นจะหมายถึงกระบวนการหนึ่งขั้นตอน
 

กล่องเครื่องมือ RIP เพื่อช่วยในการเก็บความจำ

RSOWV TRAP
R  Relax & Concentrate
     ทำตัวสบาย ๆ และมีสมาธิ
     คนที่รู้สึกเคร่งเครียด ถูกกดดัน มีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดพลาดในการเก็บความจำ
T  Translate
     แปล
     แปลข้อมูลหรือแนวความคิดให้เป็นคำพูดของตนเอง
S  Slowdown
     ค่อย ๆ ไป
    การรีบเร่งหรือหุนหันพลันแล่น จะทำให้ความเอาใจใส่กับข้อมูลหรืองานลดลงไป
R  Repeat
     ทำซ้ำ ๆ
    ซักซ้อมข้อมูลทันที และเชื่อมโยงแนว ความคิดใหม่เข้ากับแนวความคิดเก่า
O  Organize
     จัดระเบียบ
     จัดระเบียบข้อมูลหรือจัดที่เก็บ เก็บข้อมูลส่วนสำคัญไว้ในที่ ที่กำหนดไว้
A  A picture
    รูปภาพ 1 ภาพ
    ภาพหนึ่งภาพมีค่ามากกว่าคำ 1000 คำ
    สร้างจินตนาการข้อมูลออกมาเป็นภาพ
W  Write down or repeat
     เขียนบันทึก หรือพูดซ้ำ ๆ
     สมุดโน้ตเล่มเล็ก ๆ  ปฏิทิน เทปบันทึกเสียง หรือ PDA* อาจช่วยได้เป็นอย่างดี
P  Practice
    ฝึกฝน
    ยิ่งมีการฝึกฝนการจัดเก็บข้อมูลมากเท่าใด
    ก็ยิ่งจะจำข้อมูลได้ดีขึ้นเท่านั้น
V  Visualize
  สร้างมโนภาพ/จินตนาการ
  เชื่อมโยงมโนภาพ/จินตนาการกับข้อมูลที่ต้องการให้จำได้
 

* Personal Digital Assistant หมายถึง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจดบันทึก เก็บข้อมูล เตือนเวลานัดหมาย หรือจัดการงานต่าง ๆ

เลือกกลยุทธ์ที่คุณรู้สึกว่าเหมาะสมกับเด็กของคุณ สอนเขาให้หมดทุกขั้นตอน แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป
ต้องแน่ใจด้วยว่า เด็ก ๆ จะเข้าใจกับทุกขั้นตอนและความหมายของมันก่อนที่จะไปยังขั้นตอนต่อไป จากนั้นค่อยแสดงขั้นตอนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องกัน และอธิบายวิธีการใช้สิ่งช่วยเตือนความจำหรือคำไข/คำรหัส ที่จะมาช่วยให้จำขั้นตอนต่าง ๆ ได้
 
หลักเกณฑ์สำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอ คือ “อย่าอัดเข้าไปมากจนเป็นกองพะเนิน” (don't pack and stack) หมายความว่า ให้ค่อย ๆ ทำไปทีละขั้นทีละตอน และไม่สุมข้อมูลใหม่ ๆ ถมทับลงไปบนข้อมูลเก่ามากจนเกินไป ต้องให้เวลาเด็กแต่ละคนในการลงมือปฏิบัติและรวบรวมขั้นตอนหนึ่งให้สำเร็จ ก่อนจะทำขั้นตอนต่อ ไป เมื่อหลายปีก่อน การ์ตูน Far Side ** ลงพิมพ์การ์ตูนที่แสดงสถานการณ์ในชั้นเรียน มีเด็กคนหนึ่งยกมือขึ้น พร้อมกับขออนุญาตครูออกไปจากชั้นเพราะ “สมอง (ของเขา) เต็มแล้ว” ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความสำคัญของการต้องระมัดระวังในการใช้กลยุทธ์ คือไปอย่างช้า ๆ เพราะการบอกถึงกลยุทธ์มากจนเกินไปในคราวเดียว อาจทำให้เด็กเกิดความสับสนมากกว่าจะเป็นการช่วย
 
** Far Side เป็นการ์ตูนช่องเดียวจบ เขียนโดย Gary Larson ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลากว่า 15 ปี (1980-1995) พิมพ์ลงหนังสือพิมพ์รายวันมากกว่า 1,900 ฉบับ

การทำซ้ำ ๆ : อักษร R (Repetition) ใน RIP
 

 


รูปที่ 2 – ความใหม่และการเรียนรู้ที่มีหลากหลายความรู้สึก
 
ในรูปที่ 2 เด็กคนหนึ่งกำลังกระโดดบนเตียงกระโดด (trampoline) ตัวเล็ก ทบทวนความเชื่อมโยงต่างๆ แล้วเขาก็โยนลูกบอลขณะทบทวนเรื่องหนึ่งเรื่อง
 
การทำซ้ำและการฝึกจัดการกับข้อมูลจะช่วยปรับปรุงกระบวนการของการรวบรวม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ความจำถูกส่งจากที่เก็บชั่วคราวในฮิปโปแคมปัส (hippocampus - ส่วนประกอบเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญในสมองของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ) ไปยังที่เก็บถาวรในเปลือกนอกของสมอง (cortex)
(Richards, 2003 หน้า 24)
 
การซ้ำข้อมูลหลาย ๆ ครั้งจะทำให้เกิดเป็นการฝึกฝน แต่การทำเช่นนี้ ก็อาจทำให้เด็กเบื่อได้ พอเด็กเบื่อ สมองของเด็กอาจเข้าไปสู่รูปแบบที่คล้ายกับโปรแกรมรักษาจอภาพ (screensaver) ในจอมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ได้ เด็กอาจจะไม่สนใจในสิ่งที่ตนกำลังทำซ้ำอยู่เลยก็ได้ ดังนั้น การนำกลยุทธ์มาใช้ด้วยอารมณ์ขัน การเคลื่อนไหว เสียงเพลง และรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นของใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเพิ่มคุณค่าให้กับการทำซ้ำ เช่นตัวอย่าง ให้มองภาระหน้าที่เพื่อการเรียนรู้นี้ในรูปแบบของชื่อเมืองหลวงของรัฐต่าง ๆ  5 รัฐ ต่อไปนี้ คือกิจกรรมหลากหลายที่จะนำมาใช้เพื่อให้สามารถจำความเชื่อมโยงต่าง ๆ ได้ (Richards, 2003 หน้า 191)
 

  • ฝึกเอ่ยชื่อเมืองหลวงพร้อมกับชื่อรัฐ เช่น “ซาคราเมนโต, แคลิฟอร์เนีย โคลัมบัส, โอไฮโอ เป็นต้น กิจกรรมนี้จะช่วยทำให้เกิดความเชื่อมโยงขึ้นระหว่างคำสองคำ
  • คิดค้นสิ่งช่วยเตือนความจำที่ฟังดูไร้สาระมาช่วยในการจำ ว่าเมืองหลวงใดต้องอยู่กับรัฐใด อย่างเช่น รัฐโอไฮโอ ให้วาดรูปคนกำลังพูดว่า “โอ- ไฮ – โอ โคลัมบัส” จะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างคำว่า “โคลัมบัส” กับคำว่า “โอไฮโอ” ขึ้นมา
  • ฝึกการจับคู่โดยการใช้ flash card ช่วยความจำ เป็นชื่อเมืองหลวงเพื่อจับคู่กับชื่อรัฐ และเป็นชื่อรัฐเพื่อจับคู่กับชื่อเมืองหลวง
  • ทำกิจกรรมที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อย่างเช่น การกระโดดบนเตียงกระโดดตัวเล็ก หรือเล่นโยนรับบอล พร้อมกับเอ่ยชื่อเมืองตอบกลับไปเมื่อได้ยินฝ่ายตรงกันข้ามเอ่ยชื่อรัฐ หรือเอ่ยชื่อรัฐตอบกลับเมื่ออีกฝ่ายบอกชื่อเมือง (ดูรูปที่ 2)
  • คิดจังหวะขึ้นเอง หรือนำเอาโลหะมากระทบกันให้เกิดเสียง เพื่อเป็นการซ้ำการเอ่ยชื่อแต่ละรัฐและเมืองหลวง

 
 

แปลและเรียบเรียงจาก Making It Stick: Memorable Strategies to Enhance Learning โดย Regina G. Richards (2008) โดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก