ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ใครกำลังทดสอบใครกันแน่? ตอนที่ 2

Amy D. Herschell, Laurie A. Greco, Holly A. Filcheck และ Cheryl B. McNeil (2002)

คำแนะนำ 10 ประการในการจัดการกับพฤติกรรมก่อกวนของเด็กเล็กในระหว่างการทดสอบ

การป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

3. หมั่นชมเด็กในเรื่องที่ทำให้คุณพอใจบ่อย ๆ

คำชมนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ชมด้วยความพอใจแต่ไม่ชี้ชัดว่าเป็นเรื่องอะไร (unlabeled)และชมด้วยความพอใจในเรื่องที่ชี้ชัดลงไป (labeled) การชมด้วยความพอใจเพียงอย่างเดียวนั้น คือการชมโดยทั่วไป นำมาซึ่งการเห็นชอบด้วยหรือความรักใคร่ชอบพอ (เช่น ชมว่า ‘เยี่ยม’ ‘ทำได้ดีมาก’) ในขณะที่คำชมแบบเจาะจงลงไปว่าคุณพอใจที่เด็กทำอะไรให้ (อ่าน Hembree-Kigin & McNeil, 1995) แม้ว่าคำชมทั้งสองแบบจะทำให้เด็กรู้สึกดี แต่การชมแบบเจาะจงให้รู้ว่าชมเพราะอะไรนั้น นำมา ใช้ประโยชน์ในการจัดการกับพฤติกรรมเด็กได้ดีกว่า เด็กส่วนใหญ่จะยอมทำงานเมื่อผู้ใหญ่ให้ความสนใจ

เมื่อเด็ก ๆ ถูกเตือนให้นึกถึงพฤติกรรมบางอย่าง เด็กก็มักจะทำอย่างนั้นซ้ำอีก การชมแบบเจาะจงนี้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิธีการที่สามารถนำมาใช้สนับสนุนได้เป็นอย่างดี จึงมีการสอนเรื่องนี้ในการอบรมผู้ปกครองเพื่อเพิ่มพูนพฤติกรรมที่เหมาะสมให้แก่เด็กด้วย (Hembree - Kigin & McNeil, 1995) และยังสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ของการทดสอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน

การชมแบบเจาะจงนี้ ยังมีประโยชน์ต่อบรรยากาศการทดสอบด้วย เพราะเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ทดสอบและเด็ก ที่ส่งผลกระทบต่อผลการทดสอบของเด็ก (Cohen & Spenciner, 1994; Exner, 1966) การชมแบบเจาะจงยังช่วยให้ความสัมพันธ์เริ่มต้น รวมทั้งช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทดสอบ เพราะช่วยให้ผู้ทดสอบมุ่งความสนใจไปที่พฤติกรรมที่เหมาะสมของเด็กมากกว่าพฤติกรรมไม่ดีต่าง ๆ ของพวกเขา กลยุทธ์นี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อนำไปใช้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่อาจจะเคยมีประวัติว่ามีปัญหาในการทำงานทางวิชาการ ซึ่งแสดงออกในระหว่างการทดสอบทางจิตวิทยา และอาจเป็นคนที่มีระดับการนับถือตนเองต่ำ (Low self-esteem) เมื่อต้องทำกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียน เด็กเหล่านี้จะต้องการบรรยากาศในการทดสอบที่ดีและเอื้ออำนวย ซึ่งการกล่าวคำชมเชยเด็กแบบเจาะจงจะมีส่วนช่วยได้มาก

ผู้ทดสอบอาจช้ำคำชมแบบเจาะจงเพื่อนำไปสู่พฤติกรรมบางอย่างที่เด็กกำลังมีปัญหา ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กมีอาการกระสับกระส่ายบ่อยๆ ผู้ทดสอบควรจะเอ่ยชมว่าเด็กสามารถนั่งได้นิ่งดี ถ้าเด็กเป็นคนหงุดหงิด และถอดใจง่าย เหมือนอย่างเด็กหลาย ๆ คนที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมและการเรียนรู้  ผู้ทดสอบควรใช้วิธีการชมเชยในความพยายามของเด็ก ถ้าผู้ทดสอบคิดล่วงหน้าเรื่องของปัญหาด้านพฤติกรรมที่เด็กอาจแสดงออก เขาหรือเธอควรเขียนหัวข้อของพฤติกรรมตามเป้าหมาย ในการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ

4. ออกคำสั่งให้ได้ผลตามต้องการ

กลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ทดสอบสามารถใช้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดพฤติกรรมก่อกวน และช่วยเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้เมื่อทำการทดสอบ คือ การออกคำสั่งที่มีการจัดรูปประโยคอย่างแยบยล ซึ่งมีความชัดเจน เจาะจงพอที่ช่วยทำให้เด็กยอมให้ความร่วมมือ คำแนะนำเหล่านี้พร้อมตัวอย่าง ปรากฏอยู่ในตารางที่ 2

ใช้คำสั่งที่ตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม

คำสั่งแบบตรงประเด็น (Direct commands) หมายถึงการบอกเด็กไปเลยว่าจะให้ทำอะไร ในขณะที่คำสั่งแบบอ้อม ๆ (Indirect commands) เป็นลักษณะของการขอให้เด็กทำอะไรให้สักอย่าง มีคำแนะนำสำหรับการออกคำสั่งที่ได้ผล คือ ต้องใช้คำสั่งแบบตรงประเด็น โดยบอกเด็กว่าต้องทำอะไร มากกว่าจะไปขอเผื่อว่าเด็กจะยอมทำตาม (ดูตัวอย่างในตาราง 2)
 

ตารางที่ 2 ออกคำสั่งให้ได้ผลตามต้องการ
หลีกเลี่ยง ให้ใช้
คำสั่งแบบอ้อม
  • ลองนั่งแบบทหารได้ไหม?
  • จะช่วยส่งก้อนนั่นมาให้ครูหน่อยได้ไหม
คำสั่งแบบตรงประเด็น
  • ช่วยทำให้ดูสิว่าทหารนั่งอย่างไร
  • ช่วยส่งก้อนตัวต่อนั่นมาหน่อย
เน้นความหมายเชิงปฏิเสธ
  • หยุดเอามือฟาดโต๊ะเสียที
  • หนูไม่ควรนั่งบนพื้นนะ
คำสั่งเชิงบวก
  • ช่วยนั่งเงียบ ๆ หน่อย
  • ช่วยใส่ก้อนตัวต่อนี่กลับลงไปในกล่องให้ครูหน่อย
คำสั่งประสม
  • เอาเลย ถอดเสื้อออก นั่งเก้าอี้ แล้วรอให้ครูเอาของออกมาก่อน
  • ขอให้นั่งอยู่กับที่ หยุดส่งเสียง และฟังครูพูด
คำสั่งเดี่ยว
  • ช่วยถอดเสื้อออก
  • ช่วยนั่งลงบนเก้าอี้
  • ช่วยรอให้ครูเอาของออกมาก่อน
  • ลองทำท่าเตรียมพร้อมให้ครูดูหน่อย
  • ช่วยเบาเสียงลงหน่อย
  • ขอให้ฟังว่าครูพูดอะไร

ออกคำสั่งที่มีความหมายในเชิงบวก
ควรจะบอกว่าเด็กต้องทำอะไร แทนที่จะไปห้ามไม่ให้ทำ ทั้งนี้ คุณสามารถทำได้โดยค้นให้พบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กตั้งแต่แรก ยกตัวอย่างเช่น Johnny เด็กชายผู้เริ่มร้องไห้และทุบประตูหลังจากถูกแยกออกจากแม่ แทนที่จะออกคำสั่งเชิงห้ามอย่างเช่น “Johnny อย่าทุบประตูอย่างนั้นสิ” ผู้ทดสอบอาจจะบอกให้เด็กทำในสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าเป็นพฤติกรรมที่ดี ตัวอย่างของการออกคำสั่งในทางตรงกันข้าม ที่มีความหมายในเชิงบวก คือ “ตอนนี้ มีอะไรอย่างหนึ่งให้ทำด้วยความระมัดระวังกับหีบพิเศษของครูใบนี้ Johnny หนูช่วย เปิดหีบพิเศษให้ครูหน่อย” คำสั่งนี้ขัดแย้งกัน เพราะ Johnny จะมาเปิดหีบให้ไม่ได้ เพราะกำลังทุบประตูอยู่ในตอนนั้น ทุกครั้งที่มีโอกาส ผู้ทดสอบควรใช้คำสั่งที่ฟังดูตลกขบขัน หรือน่าสนใจ เพื่อให้เด็กอยากทำตาม

ใช้คำสั่งเดี่ยวแทนที่จะใช้คำสั่งประสม
คำสั่งควรชี้ชัดเจาะจงให้มากและสั่งทีละครั้ง แทนที่จะสั่งรวมกันไปในคราวเดียว เด็กหลายคนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีปัญหาในการจดจำและทำตามคำสั่งเป็นชุดๆ คำสั่งแบบประสมหรือมีหลายเรื่องรวมกัน อาจนำไปสู่การทำตามเพียงบางส่วนหรือไม่ทำเลย เด็กน่าจะยอมทำตามคำสั่งของผู้ทดสอบถ้าคุณใช้คำสั่งที่แยกออกจากกันทีละเรื่องและพูดออกไปให้ชัดเจน เพราะเด็กเองนั้น ก็ยอมที่จะทำตามคำขอร้องของผู้ทดสอบอยู่แล้ว

เทคนิค ‘แผ่นเสียงตกร่อง’
มีคำแนะนำในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กระหว่างการทดสอบอีกอย่างหนึ่ง คือ ใช้การออกคำสั่งที่เรียบเรียงประโยคเป็นอย่างดี และเทคนิคแผ่นเสียงตกร่องไปพร้อมๆ กัน เทคนิคดังกล่าวประกอบด้วยออกคำสั่งแบบตรงประเด็นในเชิงบวก รอเงียบ ๆ สัก 5 วินาที แล้วพูดคำสั่งเดิมแบบคำต่อคำซ้ำสอง หรือถึงสามครั้งกรณีที่เด็กทำตามไม่ได้ (Hembree-Kigin & McNeil,1995) ถ้าเด็กไม่เชื่อฟัง การไม่ยอมทำตามครั้งที่สาม ควรตามมาด้วยการแสดงความไม่สนใจ (ได้แก่ ผู้ตรวจสอบผละจากเด็ก และไม่สนใจกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น และพยายามเบนความสนใจของเด็ก) หรือใช้คำพูดให้เลือกธรรมดา ๆ เช่น “  ครูให้หนูเลือกได้สองทาง คือกลับไปที่โต๊ะของหนูเอง หรือไม่อย่างนั้น ครูจะช่วยพาไปเอง” ถ้าเด็กทำตามคำสั่ง ผู้ทดสอบควรกล่าวชมเชยแบบเจาะจงด้วยความตื่นเต้น เพื่อสนับสนุนพฤติกรรมที่ต้องการให้เด็กทำ

เพื่อให้สามารถใช้เทคนิคแผ่นเสียงตกร่องได้ผล ผู้ทดสอบต้องใช้คำพูดเดียวกันทุกครั้งที่มีการออกคำสั่งซ้ำ การทำเช่นนี้เพื่อขัดขวางการถกเถียง ถากถาง และเพื่อขจัดอุบายถ่วงเวลา ซึ่งเด็กที่อยากออกไปทำอะไรนอกห้องชอบใช้  นอกจากนี้ ผู้ทดสอบยังสามารถเลี่ยงการแสดงความสนใจในพฤติกรรมร้ายๆ ของเด็ก โดยทำใจเย็นและใช้น้ำเสียงราบเรียบ ตัวอย่างเช่น ถ้าเมื่อออกคำสั่งว่า “Brittany ช่วยส่งก้อนตัวต่อนั่นให้ครูหน่อย ผู้ทดสอบควรรอเงียบ ๆ สัก 5 วินาทีก่อน เพื่อให้โอกาส Brittany ทำตามคำสั่ง และทำตามคำขอร้องจนเสร็จ (ผู้ตรวจสอบจะชี้ไม้ชี้มือ และ/หรือออกท่าทางได้ตามสมควร) ถ้า Brittany มาส่งก้อนนั้นให้ผู้ทดสอบภายในช่วงหยุด 5 วินาทีแล้วละก็ ผู้ทดสอบควรตอบสนองด้วยการกล่าวชมเชยอย่างกระตือรือร้นและเจาะจงในสิ่งที่เธอทำ อย่างเช่น “ขอบใจมากนะที่ตั้งใจฟัง คราวนี้เราจะทำอะไรใหม่ ๆ กันต่อไปอีก”

อย่างไรก็ตาม ถ้าเด็กไม่ทำตามคำสั่งภายใน 5 วินาที ผู้ทดสอบควรออกคำสั่งซ้ำอย่างใจเย็นประกอบท่าทางว่า “Brittany ช่วยส่งก้อนตัวต่อนั่นมาให้ครูหน่อย” ถ้าเด็กยังไม่ทำตามคำสั่งซ้ำครั้งนี้ ผู้ทดสอบลองพูดอีกครั้งว่า “Brittany ช่วยส่งก้อนนั่นให้ครูหน่อย” ถ้าผู้ถูกทดสอบยังไม่ทำตามอีกหลังจากพูดซ้ำแล้วสามครั้ง ผู้ทดสอบควรเลือกที่จะไม่ให้ความสนใจ และเบนความสนใจของเด็ก หรือไม่ก็ใช้คำสั่งให้เด็กเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง (จะกล่าวถึงต่อไปในกลยุทธ์ที่ 8 และ 9)

5. ใช้รางวัลมาจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

จัดหารางวัลให้เด็กทั้งในช่วงเวลาสั้นๆ และในระยะยาว เพื่อช่วยให้เด็กไม่ว่าง (Sattler, 1992) และช่วยลดพฤติกรรมก่อกวน รางวัลประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลที่จับต้องได้ รางวัลที่เป็นของกิน กิจ -กรรมต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์ของการทดสอบในหลากหลายวิธี (เช่น ตารางสติ๊กเกอร์ ถุงพิศวง (Grab bags) หีบมหาสมบัติ [treasure chests]) อย่างไรก็ดี การที่ผู้ทดสอบจะพิจารณาถึงความจำเป็นของเด็กแต่ละคน และการใช้ดุลยพินิจเมื่อต้องเลือกสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองในการเลือกนำรางวัลสำหรับเด็กก่อน ก็สำคัญเช่นกัน

รางวัลที่จับต้องได้ และกินได้

ตัวอย่างรางวัลที่จับต้องได้ ประกอบด้วยสติ๊กเกอร์ แสตมป์ และของเล่นขนาดเล็ก ราคาไม่แพง หากมีการนำแรงเสริมที่จับต้องได้นี้มาใช้  ผู้ทดสอบจะต้องแน่ใจว่า ของเหล่านั้นจะไม่เข้ามาก้าวก่ายกับการทดสอบ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้โดยการควบคุมดูแลพวกอุปกรณ์ในการทดสอบเหล่านั้นให้ได้ ตัวอย่างเช่น วิธีหนึ่งที่จะนำรางวัลที่จับต้องได้มาใช้ โดยการที่ผู้ทดสอบจัดทำตารางดวงดาวหรือสมุดติดสติ๊กเกอร์ ซึ่งจะยอมให้เด็กได้เห็นเฉพาะช่วงระหว่างกิจกรรมเท่านั้น ในระหว่างช่วงต่อนี้เอง ผู้ทดสอบอาจอนุญาตให้เด็กเลือกสติ๊กเกอร์และติดลงในสมุด ให้เป็นรางวัลสำหรับพฤติกรรมดี ๆ ที่เด็กแสดงออกระหว่างกิจกรรมการทดสอบก่อนหน้านั้น เมื่อผู้ทดสอบเตรียมนำเข้าสู่กิจกรรมใหม่ สมุดสติ๊กเกอร์จะถูกนำไปวางให้พ้นจากสายตาและมือของเด็ก อีกทางเลือกหนึ่งของรางวัลที่จับต้องได้ คือ แรงเสริมที่กินได้ เช่น ลูกกวาดก้อนเล็กๆ ลูกเกด หรือไม่ก็คุกกี้ขนาดพอดีคำ

รางวัลที่ให้ตามผลการทำกิจกรรม

เมื่อเด็กผู้เข้ารับการทดสอบที่มีความคึกคะนองอย่างมาก อาจเป็นการดีที่จะยอมให้เด็กมีโอกาสหยุดพักคั่นเวลาการทำกิจกรรมเป็นช่วงสั้นๆ (3-5 นาที) ตัวอย่างเช่น หลังจากเด็กได้รับสติ๊กเกอร์ที่มีการกำหนดจำนวนที่จะได้รับรางวัลไว้ล่วงหน้า (เช่น สติ๊กเกอร์ 1 ดวงหลังจากจบบททดสอบย่อย ผู้ทดสอบและเด็กสามารถเล่นเกมด้วยกันได้หนึ่งเกม เพื่อเป็นการลดเวลาการพักคั่นให้น้อยลง ผู้ทดสอบควรเลือกทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ประกอบพิเศษมากนักหรือไม่ต้องใช้เลย เช่นใช้เกมไพ่ อย่างเช่น Go Fish หรือเกมอย่าง Simon Says เป็นต้น

ถุงพิศวง (Grab bags) และหีบมหาสมบัติ (treasure chests)

ยังมีอีกคำแนะนำหนึ่งในการจัดการกับพฤติกรรมของเด็กในระหว่างการทดสอบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการผสม ผสานการใช้รางวัลระยะสั้น เช่น ของที่จับต้องได้ หรือของที่กินได้กับแรงจูงใจในระยะยาว (เช่น รางวัล ที่มอบให้เด็กทีทำการทดสอบเสร็จก่อนเพื่อน) วิธีนี้ใช้กับพฤติกรรมที่ไม่ปกติ โดยเริ่มจากการให้เด็กได้รับรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้รางวัลในทันที เช่น สติ๊กเกอร์หนึ่งดวง แล้วอนุญาตให้เด็กเลือกของเล่นชิ้นพิเศษจากหีบมหาสมบัติ หลังจากสามารถสะสมสติ๊กเกอร์ได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ ข้อดีอย่างหนึ่งในการใช้หีบมหาสมบัติและถุงพิศวง คือ เด็กจะยังคงพยายามทำงานต่อไป เพราะรางวัลที่รอคอยนั้นยังคงเป็นความลับอยู่

6. การหยุดคั่นเวลาที่กำหนดด้วยความระวังรอบคอบ และมีหลักการ

มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องนำมาพิจารณาใน การตัดสินใจว่าจะหยุดคั่นเวลาเมื่อใดดี ซึ่งได้แก่อายุ และระดับพัฒนาการและทักษะของเด็ก รวมทั้งเวลาในระหว่างวัน และเวลาที่เด็กกินอาหารครั้งหลังสุด

(Sattler, 1992) การกำหนดพักคั่นเวลาบ่อยจนเกินไป จะทำให้เวลารวมของการทดสอบนานออกไป และเด็กจะเหนื่อยล้า ตรงกันข้าม การพักคั่นเวลาน้อยจนเกินไป ก็ทำให้เด็กเหนื่อยล้าอย่างรวดเร็ว และทำให้ความสามารถในการทำการทดสอบของเด็กด้อยลงไป ถ้าเด็กมีท่าทีว่าเหนื่อย เบื่อหน่าย หรือไม่สบายอย่างมากละก็ การฝืนทดสอบต่อจะทำให้ผลการทดสอบเลวลง จึงสมควรให้มีการหยุดคั่นเวลา

เพื่อลดพฤติกรรมก่อกวนที่อาจเกิดขึ้น ให้จัดตารางการหยุดคั่นเวลา เพื่อจะได้จัดการทดสอบย่อยที่ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ทันทีหลังจากการหยุดคั่นเวลานั้น อีกประการหนึ่ง ไม่ควรหยุดคั่นเวลาในทันทีหลังจากเกิดการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเด็ก เพราะเด็กอาจเข้าใจไปว่าพฤติกรรมไม่ดีนั้นจะทำให้ได้หยุดพักจากการทดสอบเป็นรางวัล และจะทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมก่อกวนมากยิ่งขึ้นในระหว่างการทำกิจกรรมที่ยากเป็นพิเศษ แทนที่จะหยุดคั่นเวลาหลังจากเด็กแสดงพฤติกรรมไม่ดี ผู้ทดสอบควรจะควบคุมสถานการณ์ของการทดสอบได้โดยตลอด และจะยุติก็ต่อเมื่อเด็กนั่งทำงานและปฏิบัติตามเท่านั้น

7. ใช้วิธีการเล่า/บรรยาย เสียงสะท้อน และความตื่นเต้นเร้าใจ

การเล่า/บรรยาย เสียงสะท้อน และความตื่นเต้นเร้าใจ ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ เพราะเป็นวิธีที่ทำให้เด็กเกิดความสนใจ มีใจจดจ่อกับงาน เกิดการสร้างสรรค์ เห็นอกเห็นใจ และทำให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเปลี่ยนไป 

การเล่า/บรรยาย ทำให้เด็กรู้ว่า ผู้ทดสอบจะเอาใจใส่และให้ความสนใจกับเด็กที่มีพฤติกรรมที่เหมาะสม ก่อนที่จะมีการแสดงพฤติกรรมไม่ดีเกิดขึ้น (Hembree-Kigin & McNeil, 1995) ตัวอย่างเช่น ระหว่างการทดสอบย่อย ขณะที่ผู้ทดสอบกำลังเตรียมตัวสำหรับการทดสอบช่วงต่อไป ผู้ทดสอบอาจบรรยายพฤติกรรมของเด็กโดยพูดว่า “หนูกำลังทำให้ครูเห็นว่า หนูกระตือรือร้นที่จะสอบต่อ เพราะหนูนั่งอยู่กับที่ กิจกรรมต่อไปน่าจะสนุก” เทคนิคการเล่า/บรรยาย อาจนำมาใช้เพื่อให้กำลังใจเด็กที่กำลังทดสอบอยู่ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ทดสอบอาจจะบอกว่า “หนูกำลังใช้ความพยายามมากทีเดียวนะ” หรือ “ข้อนี้ยากออกจะยากสักหน่อย” และควรจะบรรยายเฉพาะพฤติกรรมที่ดีเท่านั้น เพื่อดึงความสนใจของเด็กจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

เสียงสะท้อน คือ การพูดซ้ำข้อความในเรื่องที่เด็กพูดมาก่อนหน้านั้น (Hembree-Kigin & McNeil, 1995) แต่อาจจะมีการขยายความ มีความละเอียดซับซ้อน หรือทำให้สั้นลง ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กพูดว่า 

“ผมติดสติ๊กเกอร์ลงบนตาราง” ผู้ทดสอบอาจพูดว่า “ใช่ หนูติดสติ๊กเกอร์สีน้ำเงินลงบนตารางเอง” เทคนิคเสียงสะท้อนนี้ จะทำให้เด็กเห็นว่าคุณกำลังฟังเขาอยู่ ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเป็นที่ยอมรับ

เสียงสะท้อนนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเด็กเริ่มที่จะเล่าเรื่องที่ค่อนข้างยาวในระหว่างการทดสอบย่อย ในกรณีนี้ ผู้ทดสอบสามารถทำเสียงสะท้อนเรื่องที่เด็กเล่าสั้น ๆ แล้วเตือนให้เด็กทำการทดสอบช่วงต่อไป ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ทดสอบถามเด็กว่า คำว่า umbrella (ร่ม) แปลว่าอะไร และเด็กตอบว่า “ครั้งหนึ่งผมเคยมีร่มที่มีรูปยูนิคอร์นด้วย มันน่ารักมาก และผมก็เคยอ่านหนังสือเรื่องยูนิคอร์น ผมอยากถามครูเรื่องหนึ่งครับ ช่วยบอกผมทีว่า คำว่ารถยนต์แปลว่าอะไร”

ความกระตือรือร้น หมายถึง “ความเปลี่ยนแปลงในทันใด จากคำพูดรัวเร็วด้วยความตื่นเต้น มาเป็นเสียงกระซิบ มีการสบตาผู้ฟัง และมีการเปลี่ยนแปลงของสีหน้า มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย ศีรษะ แขนและใบหน้าอย่างรวดเร็ว มองเห็นชัดเจน แสดงออกถึงพลังรวมในระดับสูง” (Burts, Warren McKinney, & Burts,1985, p.22) Burts และคณะพบว่า เมื่อครูใช้ความตื่นเต้นเร้าใจมากระตุ้นเด็กเป็นประจำ เด็กจะเอาใจใส่ สนใจ และมีการสนองตอบมากขึ้น ดังนั้น ความตื่นเต้นเร้าใจจึงเป็นทักษะสำคัญที่ควรนำมาใช้เมื่อมีการทดสอบ เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมข่มขู่และไม่เอาใจใส่ของเด็ก ความตื่นเต้นเร้าใจนี้ ควรนำไปใช้ในการอ่านคำสั่ง การเบนความสนใจ การชมเชย การเล่า/บรรยาย และการสะท้อนเสียง เพื่อทำให้เด็กคงความสนใจในการทดสอบและรู้สึกสนุกสนานไปด้วย

จบตอนที่ 2


 
แปลและเรียบเรียงจาก Who is Testing Whom โดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก