“งานฝีมือหัตถกรรมกับคนตาบอด”
คุณอัมพาพร ดวงคำน้อย เล่าว่า ตนเองเป็นคนขอนแก่น ได้รับโอกาสมาเรียน ที่ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ประมาณปี 2511 ตาบอดตั้งแต่กำเนิด จบด้วยความคิดของคนต่างจังหวัดที่ว่า “ลูกพิการจะทำอะไรได้ ต้องมาเป็นภาระของพ่อแม่” จึงตอบกลับว่า จะไม่เป็นภาระ และจะเข้ากรุงเทพมหานคร ณ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ขอมาหาเพื่อน ๆ ที่เป็นคนตาบอดเหมือนกัน ช่วงแรกกู้เงินเพื่อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ด้วยตัวเองชอบงานเย็บปักถักร้อยเพราะทำมาตั้งแต่เรียนประถมศึกษา วิชาการบ้านการเรือน ครูให้ทำอะไรเพื่อแลกคะแนน รับจ้างเพื่อนเพื่อหารายได้ ความที่เราชอบงานเย็บปักถักร้อย ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ ๒ - ๓ ปี และถักงานฝีมือไปด้วย วางขายคู่กับแผงสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย เพราะไม่อยากนั่งเฉย ๆ สลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถขายได้ งานฝีมือที่ทำก็สามารถขายได้ด้วย ในช่วงเช้าเดินขายแถวสุขุมวิท ส่วนตอนเย็นนั่งขายแถวพระพรหม ศักยภาพของงานไม่ว่าจะเป็นคนตาบอดหรือไม่ตาบอด ขอให้ใจรักอย่างเดียว เพราะเป็นงานที่ช้ากว่าจะได้เงิน คำติก็เยอะ คำชมก็แยะและที่สำคัญต้องพัฒนาตนเองไปเรื่อย ๆ อย่าคิดว่ามองไม่เห็นแล้วจะทักอยู่ทรงเดียว แบบเดียว กระเป๋าหนังรูปแบบไหน ต้องทำให้ได้อย่างรูปแบบกระเป๋าหนัง
สิ่งที่ภาคภูมิใจ คือ ได้รับรางวัลเหรียญทองงานฝีมือคนพิการ ครั้งที่ ๖ และได้รับเหรียญทองแดงงานฝีมือระดับโลก ที่ อินเดีย ซึ่งแข่งขันกับคนตาดี และที่ภาคภูมิใจ คือ การได้เข้าเฝ้าทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายงานฝีมือแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และเข้าร่วมงานโอท็อปประมาณปี ๒๕๔๔ หรือ ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่มีการคัดสรรโอท็อป ได้เข้ามาอยู่กับบุคคลทั่วไปที่เป็นคนจังหวัดสมุทรสาคร ปีแรกได้ ๓ ดาว และให้ทำบัญชีครัวเรือนแต่เราทำเป็นอักษรเบรลล์ เจ้าหน้าที่หัวเราะและบอกว่า พี่พยายามเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้สามารถดูแลตัวเองได้ สามารถการันตีตัวเองได้ว่า อย่างน้อยงานโอท็อป ไม่ว่าประเทศไทยจะพัฒนาไปทางใด เราคนพิการพยายามเข้าไปให้ถึง อย่าใช้อภิสิทธิ อย่าใช้ความเป็นคนพิการอย่าใช้อะไรที่นอกเหนือจากคนอื่น ให้ทำตามลำดับแล้วจะภาคภูมิใจ ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง ถึงแม้จะใช้เวลานาน ก็ขอให้ไปให้ถึง ถ้าเราไปถึงไม่มีคำชม แต่อย่างน้อยเราต้องชมตัวเราเองก่อน กำลังใจจะเกิด อยากให้กำลังใจกับทุกคน ไม่อยากให้ท้อ กว่าจะมาถึงจุดนี้ ผ่านร้อน ผ่านหนาว ตกหลุม ตกร่อง ใช้เวลานาน แต่ก็ภูมิใจ
คุณอัมพาพร ดวงคำน้อย ทิ้งท้ายว่า “ในวิชาชีพนี้ หากถามว่า พอไหม พี่บอกว่า พี่พอเพียง และกับการที่ได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไป เขาชื่นชม ซื้อสินค้าของเรา ซื้อเพราะฝีมือ ไม่ได้ซื้อเพราะว่าสงสารอยากช่วย ทำให้ภูมิใจได้นานกว่า”
... สามารถติดตามรับฟังรายการรวมใจเป็นหนึ่ง ได้ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz หรือ www.moeradiothai.net