ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ปรากฏการณ์ของชีวิต”

บทสัมภาษณ์ : คุณสมพร สายกลิ่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมและบริการของเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ และครูสอนดนตรีของสถาบัน Music inspired

          คุณสมพร  สายกลิ่น เล่าว่า ตนเองเกิดที่ จ.บุรีรัมย์ มีพี่น้อง 3 คน มีน้องสาว 2 คน ตนเป็นพี่คนโต เรียนจบปริญญาตรี ที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะเกษตรศาสตร์พืชสวน และเรียนต่อปริญญาโท ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีบางมด คณะสาขาเทคโนโลยีและการเก็บเกี่ยว ในช่วงตอนเป็นเด็กการใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งตอนนั้นไม่รู้สึกว่าเป็นคนพิการ สามารถเดินไปโรงเรียนที่อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 2-3 กิโลเมตร เป็นโรงเรียนที่เป็นสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6  เมื่อเรียนจบระดับประถมศึกษาก็เรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งโรงเรียนอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 5-6 กิโลเมตร ทำให้ต้องปั่นจักรยานไปเรียนโดยที่ถนนยังเป็นทางลูกรังที่สองข้างทางเป็นป่า ช่วงที่เรียนอยู่มัธยมศึกษาตอนปลายครอบครัวไม่ค่อยมีเงิน จึงได้รับทุนการศึกษาจากโรงเรียนในอำเภอกระสัง ตอนนั้นมีปัญหาที่ไม่ค่อยมีความสุขกับการอยู่ในบ้าน เมื่อเรียนจบมัธยมปลายได้รับโควต้าเรียนต่อ ที่ ม.อุบลฯ โดยเลือกเรียนคณะเกษตร พอจบปริญญาตรี พยายามส่งใบสมัครงานไปหลายที่  ซึ่งมีเรียกไปสัมภาษณ์ 2-3 ครั้ง แต่ไม่รับเข้าทำงาน
          ต่อมามีโอกาสทำงานกับลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งทำงานเป็นช่างประปา รับงานเดินท่อประปาตามอาคาร ในหมู่บ้านสร้างใหม่ในโครงการต่างๆ เมื่อได้รับเงินมาก็ไม่พอค่าใช้จ่ายทางบ้าน และยังมีหนี้กองทุนเงินให้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)อีกด้วย งานที่ทำบางครั้งก็เบิกเงินไม่ได้ เมื่อทำงานได้สักพัก อาจารย์ที่สอนระดับปริญญาตรี บอกว่า มีทุนการศึกษาที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) เป็นนักเรียนทุนช่วงแรก ๆ ต้องหาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายไปพลางก่อนแล้วจึงได้รับเงินจากโครงการที่สนับสนุน และมีการติดตามดูผลการเรียนด้วยว่าอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ สำหรับทุนที่ได้รับมีความพิเศษตรงที่ว่า จะต้องทำงานของโครงการไปด้วยและเรียนไปด้วย แต่ก็สามารถเรียนจบ ผ่านมาแบบเฉียดฉิว จากประสบการณ์ในการเรียนปริญญาโททำให้ได้กระบวนการคิด การทำงานที่เป็นกรอบเป็นขั้นตอน การทำงานวิจัยทำให้เราเหมือนเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เมื่อเรียนจบปริญญาโท คิดว่าจะหางานทำได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อไปสมัครงานหลาย ๆ ที่ก็ไม่รับเข้าทำงานเหมือนเดิม โดยการกระทำบางอย่างทำให้รู้ว่าหลายบริษัทไม่มั่นใจว่าเราจะทำงานให้เขาได้ จึงกลับไปทำงานกับพี่ชายทำงานประปาและก่อสร้างเหมือนเดิม
          ต่อมาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยพวกผลิตภัณฑ์สารพิษ สารปนเปื้อนที่อยู่ในอาหารไ ปทำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำได้ 2-3 ปี และจากนั้นก็สอบงานราชการควบคู่ไปด้วย ช่วงอายุ 25 - 27 เกิดล้มป่วยเป็นวัณโรคในปอด จำได้ว่าขณะนั้นทำงานอยู่ที่โรงงานผลิตซอส ที่กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้ต้องออกจากงานกลับบ้านเพื่อรักษาตัวอยู่หลายปี ซึ่งในขณะนั้นวัณโรคเป็นโรคติดต่อที่ในสมัยนั้นสังคมยังไม่ยอมรับคนป่วยเป็นโรคนี้ เมื่อรักษาหายก็กลับมากรุงเทพหางานทำต่อ มีโอกาสได้ไปงานคนพิการประจำปี ที่สวนอัมพร ได้ทำบัตรประจำตัวคนพิการ แต่ก็ได้ทำงานซึ่งไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา งานส่วนใหญ่เป็นงานขายประกัน เซลขายของ งานรับโทรศัพท์ สุดท้ายได้งานขายประกันโดยใช้วุฒิปริญญาตรี ได้รับเงินเดือนหกพันกว่าบาท ทำงานได้ 3 - 4 ปี จึงลาออก เมื่อได้รู้จักกับเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ (ศดพ.)
         นับจากที่เข้ามารู้จักเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ เป็นเจ้าหน้าที่ มีความรับผิดชอบในด้านช่วยคิดกระบวนการงานบริหาร ในส่วนของพนักงานคอยปรับเสียง ต้องซ่อมแซม เรื่องของแผนการสอนและกิจกรรมดนตรี และอุปกรณ์ให้กับ น้อง ๆ พี่ ๆ ทีมงาน ที่จะต้องทำกิจกรรมดนตรี เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการทำให้วิถีชีวิตหรือว่ามุมมองในการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ย้อนไปตอนแรกที่เข้าไปทำงานในเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ ศดพ. จากเมื่อก่อนไม่เคยเจอกลุ่มคนพิการ พอมาทำงานที่เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ ทำให้เราอยากช่วยเหลือคนพิการ มีการพัฒนาความคิดมาเรื่อย ๆ ทำให้เข้าใจคนพิการมากขึ้น ปัจจุบันตนเองยังรับเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์บันทึกเสียงด้วย ซึ่งไมโครโฟนบันทึกเสียง SOM  ซึ่งเป็นไมโครโฟนที่รุ่นน้องที่พระจอมเกล้าธนบุรี บางมด ผลิตขึ้นเองเป็นแบรนด์ของคนไทยที่สามารถบันทึกเสียงผ่านมือถือได้ ผ่านคอมพิวเตอร์ได้
         คุณสมพร ทิ้งท้ายว่า “ขอให้ทุกคนสู้ ๆ ได้กำลังใจเยอะแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่ว่าจะเจอความทุกข์หรือความสุข อยากให้รักชีวิตตัวเอง ไม่ว่าเราจะเกิดมาเป็นอย่างไรก็ตาม จะรวย จน เป็นคนพิการหรือไม่พิการ ชีวิตหนึ่ง ที่เราได้มามีคุณค่ามาก อย่างน้อยรอยยิ้มของเราหรือสายตา อาจจะชุบชีวิตของใครบางคนก็ได้ อย่าได้คิดน้อยใจ อย่าคิดในทางที่ลบกับชีวิตตัวเอง ไม่ต้องจมอยู่กับความทุกข์มาก แล้วก็ช่วยคนอื่น ๆ รอบ ๆ กายเรา เท่าที่เราช่วยได้ ”

 

ภาพประกอบรายการวิทยุรวมใจเป็นหนึ่ง

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก