ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ภาพรวมของการขับเคลื่อนงานสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย”

บทสัมภาษณ์ : คุณนุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย

          คุณนุชจารี กล่าวว่า บทบาทของสมาคมฯ เป็นเรื่องการพิทักษ์สิทธิ การช่วยเหลือ การฟื้นฟู และการแก้ปัญหาเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิได้ เรื่องการขยายเครือข่ายให้สามารถครอบคลุมทั้งตำบล อำเภอให้มากขึ้น เพื่อได้มีคนมาช่วยสมาคมฯ ดูแลช่วยเหลือคนพิการทางจิต นอกจากระดับตำบลอำเภอ ยังมีเรื่องของระดับชาติ มีการรวมกลุ่มแกนนำในแต่ละจังหวัดของแต่ละภาครวมกลุ่มกัน เพื่อให้ภาคเป็นพี่เลี้ยงดูแลช่วยเหลือจังหวัดในภาคของตัวเอง เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิเพิ่มมากขึ้น เพราะมองว่าศูนย์จังหวัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายมีทุกจังหวัด แต่ศูนย์ที่ทำให้คนพิการใกล้ชิดและเข้าถึง คือ ศูนย์ที่เกิดจากองค์กรคนพิการที่เข้าใจคนพิการในกลุ่ม นอกจากผลักดันเรื่องของการผ่านมาตรฐานเปิดเป็นศูนย์บริการ ยังให้เครือข่ายดำเนินการครบ 1 ปี ให้จดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ เพราะตอนนี้เมื่อเครือข่ายทำกิจกรรม เช่น ในส่วนของธนาคารมีการตรวจสอบ ถ้าเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ธนาคารมีความเชื่อมั่นว่าเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ทำเพื่อคนพิการอย่างแท้จริง นี่คือการขับเคลื่อนงานของสมาคม

          ในส่วนภาพรวมทั่วไปมีการเตรียมประเมินศักยภาพคนพิการ โดยผ่านศูนย์บริการของสมาคมฯ โดยมีการประเมินคนพิการว่า คนไหนขาดทักษะอะไร สามารถฟื้นฟูอะไร เมื่อผ่านกระบวนการฟื้นฟู สิ่งสุดท้ายคือ เขาสามารถดูแลตัวเอง และสามารถทำงานเลี้ยงดูตัวเองได้ ไม่เฉพาะผู้ป่วยอย่างเดียว รวมถึงผู้ดูแลด้วย ให้ผู้ดูแลรู้สิทธิ หน้าที่ของตัวเอง เพื่อช่วยปกป้อง ผู้ป่วยไม่จำเป็นต่อรออย่างเดียว

          การเปิดใจของผู้ดูแลหากเป็นคนที่มีฐานะ คือ สังคมรอบข้างยังมีเจตคติเชิงลบต่อคนป่วย สมมุติว่าใครคนหนึ่งอยู่ ๆ เดินเข้าออกโรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลสวนปรุง ถ้ามีเพื่อนเห็นจะถูกมองว่า ทำไมไปโรงพยาบาลบ้า ด้วยความที่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจเรื่องโรคจิต ซึ่งทางสมาคมฯ พยายามให้ความรู้ว่า เหมือนคนที่เป็นเบาหวาน ความดัน ไขมัน สามารถรักษาหายได้ แต่ต้องพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทานยาสม่ำเสมอ หากเบาหวาน ความดัน ไม่มีอาการรุนแรงต่อตัวเองและคนอื่น ไม่เหมือนจิตเวช ถ้าดูแลตัวเองไม่ดี ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจจะทำร้ายตัวเองและคนอื่นได้ จึงถูกมองแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องสร้างความเข้าใจให้คนรอบข้างรู้ว่า คนที่มีความบกพร่องทางจิต เขาเหมือนคนป่วย ถ้าดูแลเขา ช่วยเขา ให้เข้ารับการรักษาทางแพทย์ จะปลอดภัยเหมือนช่วยกันเป็นหูเป็นตา 

          การทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจว่า คนในสังคมมองเขาในเชิงบวก ไม่ได้มองเชิงลบ ทำให้เขายอมเปิดตัวมากขึ้น ต้องใช้เวามากกว่าคนพิการอื่น เนื่องจากความรู้สึกที่คนมักสร้างกำแพงเอาไว้บวกกับข่าวเกี่ยวกับคนที่ทำร้ายคนอื่น บางทีเขาไม่ได้เป็นคนป่วย ไม่ได้เป็นคนพิการทางจิต อาจเกิดจากอารมณ์ การทำร้านคนอื่นที่คนดี ๆ เขาไม่ทำกัน คนป่วยจึงถูกมองในเชิงลบมากขึ้น แท้จริงแล้วเวลาคุณหมอประเมินคนพวกนี้ไม่ได้เป็นผู้ป่วยทางจิต แต่เขาไม่เคยแก้ข่าวให้ทำให้สิ่งที่ไม่ดีมาลงที่ผู้ป่วยทั้งหมด เพราะข่าวถูกนำเสนอไปในครั้งแรก คนจะจำข้อมูลนั้น  แล้วมองว่าทำแบบนี้เป็นพวกโรคจิต เป็นบ้า คนดี ๆ เขาไม่ทำ

          คุณนุชจารี “ฝากถึงคนในสังคมและชุมชน ถ้าเจอกลุ่มคนพิการทางจิตหรือผู้ป่วยทางจิต อยากให้คิดว่าเขาคือ คน ๆ หนึ่ง อยากให้ช่วยดูว่า ถ้าเขามีอาการผิดปกติ เช่น เดินไปเดินมา กลับบ้านไม่ถูก ช่วยติดต่อคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ หมอเพื่อให้เขาได้รับการรักษา สิ่งหนึ่งคือ ให้คุยเหมือนเขาเป็นคนทั่วไปอย่ามองว่าเขาเป็นคนที่น่ารังเกียจ เพราะการตอกย้ำสิ่งนี้ทำให้ทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัวรู้สึกไม่สบายใจ เจ็บปวดที่หัวใจ ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นคนป่วยโรคจิต แต่ให้รู้ว่าทุกคนอยากอยู่ร่วมกัน การให้โอกาสซึ่งกันและกัน ทำให้เขาอยู่ร่วมกับเราได้อย่างมีความสุข”

 

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz หรือ www.moeradiothai.net

ภาพประกอบรายการวิทยุรวมใจเป็นหนึ่ง

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก