ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ความสัมพันธ์ของครอบครัวคนพิการทางจิตกับผู้ดูแล”

บทสัมภาษณ์ : คุณจิตนา แสงสิระประภา และคุณธนพร แสงสิระประภา

          คุณจินตนา กล่าวว่า เป็นมารดาของธนพร แสงสิระประภา ปัจจุบันเป็น นายกสมาคมสายใยน้ำใจแพร่ ที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวช จังหวัดแพร่ และเป็นประธานศูนย์บริการคนพิการด้านจิตใจหรือพฤติกรรมจังหวัดแพร่
          คุณธนพร เล่าว่า เป็นผู้ป่วยจิตเวช เป็นลูกสาวของคุณจินตนา สาเหตุเริ่มจากเกิดความเครียดในช่วงวัยรุ่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เพื่อนที่โรงเรียน ไม่ได้ระบายให้ใครฟังเก็บไว้คนเดียว ทำให้เก็บกด อาการที่เกิดคือ ทำลายข้าวของ หงุดหงิด โมโหง่าย ไม่อยากไปโรงเรียน ดื้อ ไม่มีเหตุผล เป็นต้น ระยะเวลาที่เป็นประมาณ 2 – 3 เดือน แล้วคุณแม่พาไปรักษา ในช่วงแรกไม่ยอมรับการรักษา ต่อมา  ยอมรับการรักษา ทานยา ทำกิจกรรมตามที่แพทย์แนะนำ เข้าสังคม ออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยจิตเวช และนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เทคนิค คือ ทำอารมณ์ จิตใจให้แจ่มใสและเบิกบาน อะไรที่ไม่ดี ไม่ชอบ เครียด ไม่ทำ แต่เลือกทำในสิ่งที่ชอบ และเป็นประโยชน์ทำให้เรามีอารมณ์ดี ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสุนัข ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และได้ทำงานที่ศูนย์บริการคนพิการด้านจิตใจหรือพฤติกรรมจังหวัดแพร่ โดยได้รับการจ้างงานผ่านมูลนิธินวัตกรรม
          คุณจินตนา เล่าว่า ในช่วงนั้นน้องอายุประมาณ 15 ปี น้องเกิดความเครียด ไม่สุงสิงใคร เฉยเมยเหมือนคนไม่มีความรู้สึก เวลามองคนอื่นตาขว้าง เวลาอาการกำเริบจะทำลายข้าวของ โยนเก้าอี้ใส่กระจกแตก เป็นต้น ช่วงแรกพาไปรักษาที่คลินิก ต่อมาส่งไปรักษาต่อที่ โรงพยาบาลสวนปรุง ในปี 2558 แม่ป่วยด้วยอาการหลอดเลือดในสมองตีบ ส่งน้องเข้ารับการรักษาต่อจนยอมรับว่าเป็น ผู้ป่วยจิตเวช และทานยาเป็นประจำด้วยตนเอง และสามารถทำงานช่วยงานธุรการของสมาคมฯและศูนย์บริการฯ ได้ วิธีการดูแล ให้น้องมาทำงานจิตอาสา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับครอบครัวอื่นที่มีผู้ป่วยจิตเวช เป็นภาวะที่ทำให้คนในครอบครัวเครียด เพราะไม่รู้ว่าอาการจะกำเริบเมื่อไหร่ จะต้องเข้มแข็ง ให้ความรัก ให้เวลา และการเอาใจใส่ ที่สำคัญต้องพูดความจริง ถ้าไม่พูดความจริงไม่มีทางเชื่อ ถ้าเขาไม่ยอมรับจะไม่สามารถดูแลเขาได้ ถ้าอาการกำเริบต้องอยู่ห่าง ๆ หลังจากนั้น 15 – 20 นาที เขาจะรู้สึกตัว
           คุณจินตนา ทิ้งท้ายว่า “ต้องอยู่กันด้วยความรัก ความเข้าใจ ใส่ใจเขา ดูว่าเขาเป็นคนอย่างไร และที่สำคัญที่สุดต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งตลอดชีวิต ห้ามขาดยาโดยเด็ดขาด หากขาดยาเมื่อไหร่อาการกำเริบขึ้นทันที บางคน 5 – 10 ปี สามารถกำเริบได้เช่นกัน เรื่องการป่วยทางจิตเป็นเรื่องธรรมชาติ เช่นเดียวกับผู้ป่วยทางกาย ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคอื่น ๆ ต้องได้รับการรักษา และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ขาดยาเมื่อไหร่มีอันตรายถึงชีวิตได้ เช่นเดียวกันผู้ป่วยทางจิตหรือจิตเวช เกิดจากสารเคมีในสมองหลั่งสารผิดปกติ แทนที่จะหลั่งสารแห่งความสุขแต่กลับหลั่งสารที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า จึงต้องได้รับประทานยาเพื่อไปสร้างความสมดุลของสารเคมีในสมอง โรคนี้เป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้”  

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz หรือ www.moeradiothai.net

ภาพประกอบรายการวิทยุรวมใจเป็นหนึ่ง

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก