ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“การให้บริการผู้ช่วยคนพิการ (PA)”

บทสัมภาษณ์ : คุณกิตติชัย เนตรพิศาลวนิช กรรมการมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทยออกอากาศ : วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 รายการรวมใจเป็นหนึ่ง

           คนพิการมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองไม่ว่าความพิการจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่ขาดถ้าคนพิการได้รับกายอุปกรณ์หรือได้รับการสนับสนุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวก คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป แนวคิดเรื่องผู้ช่วยคนพิการ(PA)ก็เช่นกัน เข้ามาเติมเต็มในส่วนที่คนพิการรุนแรงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ให้สามารถไปเรียน ทำงาน ดำรงชีวิตได้ 

          คนพิการรุนแรงก็คือคนที่ต้องใช้ผู้ช่วยเพื่อช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน คนพิการที่พิการครึ่งท่อนคนพิการช่วงแรกจะไม่รู้วิธีดูแลตนเองไม่รู้วิธีช่วยเหลือตนเอง อาจจะต้องใช้ผู้ช่วยในช่วงแรกแต่หลังจากที่ฝึกทักษะไปแล้วก็สามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็ไม่ต้องใช้บริการผู้ช่วยคนพิการก็ได้ แต่ในคนพิการที่อยู่ในระดับรุนแรงไม่ว่าจะฝึกทักษะยังไงก็คงไม่สามารถกลับมาใช้มือได้ ไม่สามารถนั่งทรงตัวได้หรือไม่สามารถอาบน้ำ กินข้าวเองได้ จึงมีความจำเป็นต้องใช้ผู้ช่วยคนพิการ

กฎหมายได้ระบุไว้ว่า คนพิการรุนแรงที่ต้องใช้ผู้ช่วยสามารถขอผู้ช่วยได้จากภาครัฐ โดยการยื่นเรื่องแสดงความจำนงค์ว่าต้องการใช้ผู้ช่วยคนพิการเข้าไปที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปและพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในแต่ละจังหวัด ในส่วนของภาครัฐมีการจัดฝึกอบรมผู้ช่วยเป็นระยะ และมีการอบรมตามชั่วโมงที่กำหนด หลังจากนั้นมีการจดแจ้ง สามารถนำมาช่วยเหลือให้กับคนพิการในพื้นที่ หลังจากประสานการช่วยเหลือกันเรียบร้อยแล้วจะต้องมีการทำงานและเขียนรายงานตามลักษณะงานที่ได้ช่วยเหลือคนพิการ แล้วภาครัฐจะจ่ายค่าตอบแทนโดยมีกฎเกณฑ์ในการจ่าย

          กฎหมายเรื่องผู้ช่วยเหลือคนพิการออกมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำให้เป็นระบบ เป็นรูปร่างที่ชัดเจนได้ ซึ่งผมเข้ามาทำงานตั้งแต่ พ.ศ. 2546 PA คือเป้าหมายหนึ่งของคนทำไอแอล อยากให้เกิดเป็นระบบเพราะศึกษาจากทางประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบ PA เป็นเรื่องเป็นราว แต่ในไทยยังไม่สามารถทำให้ระบบเกิดได้ อาจจะเนื่องจากคนไทยไม่ชอบงาน PA คนที่สนใจอยากทำ PA กว่าจะได้อบรมใช้เวลานานมาก เมื่ออบรมเสร็จกว่าจะได้จดแจ้งก็ใช้เวลานานมาก ซึ่งต้องมารองานบางคนไม่ได้มีเวลารองาน หรือบางทีเมื่อจดแจ้งผ่านแล้วเขาอาจจะได้งานใหม่ก็ไม่ได้มาทำงาน PA

อยากให้องค์กรคนพิการหรือแม้แต่ตัวคนพิการรุนแรงเองออกมาช่วยกันขับเคลื่อนงาน ดำเนินงานภายในองค์กร ถ้าองค์กรไหนมีคนพิการรุนแรงทำงานภายในองค์กรสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานภายในองค์กรได้ คนพิการรุ่นใหม่หรือคนพิการที่ไม่ได้พิการรุนแรงจะได้เห็นถึงศักยภาพของคนพิการรุนแรง 

 

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 kHz

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181