ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“การช่วยเหลือเด็กออทิสติกที่ไม่สามารถเรียนได้”

บทสัมภาษณ์ : คุณวาสนา สำลีรัตน์ กรรมการฝ่ายสวัสดิการ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึม(ไทย) ออกอากาศ : วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ รายการรวมใจเป็นหนึ่ง

          ในช่วงปฐมวัย 5 ขวบปีแรก ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าเป็นออทิสติก ต้องเข้าโปรแกรมปรับพฤติกรรมแบบเข้มข้น ส่งเสริมพัฒนาการในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง ฝึกและแก้ไขการพูด เสริมสร้างทักษะการดูแลตนเอง และทักษะสังคมที่เหมาะสมตามวัย เริ่มต้นด้วยการกระตุ้นให้เด็กตอบสนองอย่างสม่ำเสมอ เรียกแล้วหันมอง เน้นการมองหน้าสบตา เล่นโต้ตอบกัน โดยการกระตุ้นเด็กให้ออกจากโลกส่วนตัวของตนเอง มารับรู้และสนใจสิ่งแวดล้อมภายนอกเพิ่มขึ้น เพราะถ้าปล่อยให้เด็กเป็นไปตามธรรมชาติของเขา เด็กก็จะอยู่ในโลกส่วนตัวมากขึ้น ไม่สนใจใคร เริ่มมีอาการแย่ลงเรื่อยๆ กระตุ้นตัวเองโดยการโยกตัว หมุนตัว เล่นมือ ส่งเสียงเป็นภาษาของตัวเอง และไม่ยอมเรียนรู้โลกภายนอก ดังนั้นผู้ปกครองควรเตรียมความพร้อมพื้นฐานในการเรียนรู้ โดยการฝึกฝนให้เข้าใจคำสั่งง่ายๆ และทำตามได้ เช่น ขอ ยกมือ กอดอก นั่ง เป็นต้น และฝึกฝนให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่ทำได้นานพอ ไม่ลุกเดินไปมาตลอดเวลา ในช่วงวัยเรียน เน้นฝึกฝนทักษะด้านสังคมเพิ่มขึ้น สามารถเข้ากลุ่มกิจกรรมร่วมกับเพื่อนฝูง รู้จักการรอคอย รู้จัก กฎ กติกา ในการเล่นเกม ผลัดกันเล่นผลัดกันทำ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเข้าใจกติกาทางสังคมต่อไป

          เด็กออทิสติกบางคน พบว่ามีปัญหาพัฒนาการช้าทุกด้านร่วมด้วย ดังนั้นควรมีการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านควบคู่กัน ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มักไม่ค่อยมีปัญหา เดิน วิ่ง คล่องแคล่ว ส่วนด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก มักพบปัญหาได้บ่อยพอสมควร เด็กอาจมีลักษณะงุ่มงาม การหยิบจับไม่ถนัด การประสานงานการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อไม่ค่อยดี การเสริมสร้างพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ เน้นตามปัญหาเป็นหลัก เช่น ฝึกการเพิ่มแรงของกล้ามเนื้อ โดยการ ปั้น บีบ ดึง ตัด ยกของ เป็นต้น ฝึกการใช้นิ้วมือหยิบจับ โดยการร้อยลูกปัด เอาลูกกลมเสียบหลัก ระบายสีให้อยู่ในกรอบ และที่สำคัญคือ การรับประทานอาหาร หยิบจับช้อนเอง ซึ่งเป็นการฝึกที่ได้ผลดี เนื่องจากต้องทำสม่ำเสมอทุกวัน

          อุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างคือ ความอ่อนล้าจากการฝึกฝน เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกอ่อนล้า เบื่อหน่าย และท้อแท้บ้างเป็นบางครั้งหลังจากได้ทุ่มเทฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง อ่อนล้าก็พัก เติมกำลังใจให้ตัวเอง แล้วกลับมาตั้งต้นใหม่เมื่อพร้อม อย่าไปรู้สึกผิดที่บางช่วงทุ่มเทไม่เต็มที่ เพราะแม้แต่เครื่องยนต์ยังไม่สามารถเดินเครื่องตลอดเวลาโดยไม่ได้หยุดพัก บางช่วงเวลาเด็กอาจมีพัฒนาการที่ถดถอยไปบ้าง แต่เมื่อกระตุ้นแล้วก็จะกลับมาเหมือนเดิมได้อย่างรวดเร็ว เพราะสิ่งใดที่เคยทำได้แล้วย่อมไม่มีหายไปไหน ทุกปัญหามีทางแก้ แต่ต้องใช้เวลา ไม่มีทางตัน เพียงแต่บางเวลาอาจยังค้นหาทางออกไม่เจอเท่านั้นเอง การพยายามคิดวิเคราะห์ มองปัญหาอย่างรอบด้าน และช่วยกันมองหลายๆ คน จะมองเห็นทางออกในที่สุด

 

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 kHz

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก